คดีนี้ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชได้พิจารณาพิพากษารวมกันมากับสำนวนที่โจทก์ฟ้องนายอัมพร ณ สงขลา แต่สำนวนนายอัมพร ณ สงขลาได้ยุติตามคำพิพากษาศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชไปแล้ว
สำหรับคดีที่นายคลิ้ง อักษรวรรณ เป็นจำเลยนี้ คู่ความพิพาทกันด้วยเรื่องที่ดินมือเปล่า ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลโพธิเสด็จ ท้องที่อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช คำนวณตามแผนที่กลางจะได้เนื้อที่ประมาณ 10 ไร่เศษ โจทก์ตีราคามาในฟ้อง 3,000 บาท
โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2494 กล่าวว่า ที่สวนพิพาทเป็นทรัพย์สินกองมรดกของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเมื่อระหว่างเดือนมิถุนายน ถึงเดือนพฤศจิกายน 2493 จำเลยบังอาจเข้าแย่งการครอบครองที่สวนพิพาทและตัดฟันต้นยางเสีย 2 ต้น ราคาต้นละ 500 บาท ต้นมังคุด 10 ต้น ๆ ละ 100 บาท ขอให้ศาลพิจารณาและพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของกองมรดกสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพขอให้ห้ามและขับไล่จำเลย ทั้งให้จำเลยใช้ราคาต้นไม้รวม 2,000 บาทให้แก่กองมรดกด้วย
จำเลยให้การต่อสู้ว่า ที่พิพาทเป็นของจำเลยโดยได้รับใบเหยียบย่ำและครอบครองมาเกินปีแล้ว และขอตัดฟ้องว่า
1. ตามพินัยกรรมของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพสั่งให้ผู้จัดการทรัพย์มรดกขายทรัพย์มรดกเสียภายใน 5 ปี แต่โจทก์มิได้ขายทรัพย์ตามข้อกำหนดดังกล่าว โจทก์จึงหมดสิทธิที่จะจัดการทรัพย์มรดกรายนี้ และหมดสิทธิจะฟ้องจำเลย
2. ทรัพย์สินตามพินัยกรรมของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพจะตกเป็นของโจทก์ได้ต่อเมื่อโจทก์ได้จัดการตามคำสั่งในพินัยกรรมโดยครบถ้วน แต่โจทก์ไม่ได้จัดการให้ครบถ้วนโดยไม่ได้จัดการขายทรัพย์ตามพินัยกรรม โจทก์จึงยังไม่ได้รับที่พิพาทตามพินัยกรรม
3. หากที่พิพาทจะเป็นของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพจริงจำเลยก็ได้รับใบเหยียบย่ำครอบครองมาเกินปีแล้ว โจทก์มิได้ฟ้องเรียกที่พิพาทคืนใน 1 ปี ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374, 1375 และ
4. ตามใบมอบอำนาจของโจทก์ให้ขุนบวรรัตนารักษ์ฟ้องจำเลยเกี่ยวด้วยที่มีตราจอง แต่ที่พิพาทไม่มีตราจอง ขุนบวรจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วเห็นว่า ทางพิจารณาได้ความว่าโจทก์มอบอำนาจให้ขุนบวรรัตนารักษ์ฟ้องจำเลยเรื่องพิพาทนี้เอง ขุนบวรรัตนารักษ์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย (เป็นข้อวินิจฉัยข้อตัดฟ้องข้อ 4) และศาลจังหวัดเห็นว่าแม้โจทก์ไม่ได้ขายทรัพย์ใน 5 ปีตามคำสั่งในพินัยกรรม แต่โจทก์เป็นผู้มีสิทธิรับมรดกรายนี้ จึงมีอำนาจฟ้องคดีได้เอง เพราะเป็นเจ้าของที่พิพาท (เป็นข้อวินิจฉัยข้อตัดฟ้องข้อ 1 และ 2)
ส่วนข้อเท็จจริงศาลจังหวัดเห็นว่าโจทก์มีพยานหลักฐานฟังได้ว่าที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่สวนบ้านตาลของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพซึ่งตกเป็นกองมรดก และศาลจังหวัดเห็นว่าที่พิพาทเป็นที่บ้านที่สวนตามกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จบทที่ 42 จึงจะยกอายุความหนึ่งปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1374, 1375 มาบังคับมิได้คดีของโจทก์หาขาดอายุความฟ้องร้องเอาที่พิพาทคืนไม่ (เป็นข้อวินิจฉัยข้อตัดฟ้องข้อ 3)
ส่วนที่จำเลยได้รับใบเหยียบย่ำศาลจังหวัดเห็นว่า เป็นการที่จำเลยจองทับที่ของผู้อื่นและได้ใบเหยียบย่ำมาโดยมิชอบ ไม่ทำให้จำเลยเกิดมีสิทธิในที่พิพาทดีไปกว่าเจ้าของ
ศาลจังหวัดพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นทรัพย์สินกองมรดกของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพห้ามไม่ให้จำเลยเกี่ยวข้อง และจำเลยเสียค่าเสียหายให้แก่กองมรดกของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ 800 บาท ให้จำเลยทั้งสองเสียค่าธรรมเนียมพร้อมด้วยค่าทนายความ 250 บาทแทนโจทก์
นายคลิ้ง อักษรวรรณ จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับศาลจังหวัดว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้แต่ในส่วนข้อเท็จจริงศาลอุทธรณ์เห็นว่านายแหมเป็นพยานสำคัญของโจทก์ เพราะเป็นผู้ดูแลที่พิพาทและที่นอกพิพาทแทนโจทก์และเป็นผู้แทนโจทก์ในการทำแผนที่กลางตามคำเบิกความของนายแหมไม่มีร่องรอยว่านายแหมจะเบิกความเข้าข้างจำเลย และนายแหมเบิกความว่าในที่พิพาทมีมังคุดอยู่ 11 ต้น มีผลแล้ว 1 ต้น มีมะปราง 7-8 ต้น พะเนียง 1 ต้น สะตอ 1 ต้น ยางราว 10 ต้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่าต้นยางนั้นนับว่าเป็นไม้ป่า ต้นสะตอ ต้นพะเนียงตามปกติก็เป็นไม้ป่าไม่นิยมปลูกเป็นสวน ต้นไม้ที่จะนิยมปลูกเป็นสวนก็มีแต่มังคุดกับมะปรางแต่ต้นไม้ดังกล่าว (มังคุดกับมะปราง) ก็มีจำนวนน้อยและมังคุดก็มีผลแล้วเพียง 1 ต้น ส่วนต้นระกำที่ว่ามีในที่พิพาทนั้นต้นระกำตามปกติก็ขึ้นเองตามป่า ไม่นิยมปลูกขึ้นเป็นสวน ตามคำนายแหมก็ว่าไม่รู้ว่าต้นไม้เหล่านี้ขึ้นเองหรือใครปลูก ศาลอุทธรณ์เห็นว่าตามคำพยานโจทก์เองแสดงว่าที่พิพาทไม่มีสภาพเป็นที่สวนตามกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จบทที่ 42 และศาลอุทธรณ์เห็นว่าก่อนที่จำเลยจะเข้ายึดถือครอบครองที่พิพาท ฝ่ายโจทก์ไม่ได้ยึดถือที่พิพาทเพราะนายแหมว่าก่อนหน้าที่จำเลยจะเข้ายึดถือ 2 ปีเศษ ไม่มีผู้ใดเข้าไปทำในที่พิพาทศาลอุทธรณ์จึงเห็นว่าโจทก์ไม่มีสิทธิในที่พิพาท แม้จะฟังว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองในที่รายนี้แต่จำเลยได้เข้าครอบครองที่พิพาทมาเกินหนึ่งปีแล้วก่อนฟ้อง ฟ้องของโจทก์จึงเกินกำหนดหนึ่งปีนับแต่ถูกแย่งการครอบครอง โจทก์ฟ้องจำเลยไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ให้โจทก์เสียค่าฤชาธรรมเนียม 2 ศาลกับค่าทนายความ 2 ศาล 450 บาท แทนนายคลิ้งจำเลย
โจทก์ฎีกา
นายคลิ้ง อักษรวรรณ จำเลยก็ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาคดีนี้แล้ว ทางพิจารณาคงได้ความเป็นยุติว่าที่พิพาทเป็นที่ส่วนหนึ่งของที่สวนบ้านตาลของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และเป็นที่ส่วนน้อยอยู่ที่มุมสวนบ้านตาลด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ สวนบ้านตาลนี้มีผู้จัดการของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้จัดการให้ทำประโยชน์ติดต่อกันมาไม่ขาดระยะกระทั่งถึงทุกวันนี้ ขุนบวรรัตนารักษ์ผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้เป็นผู้จัดการอยู่ ในที่พิพาทคงมีไม้ยืนต้นไม่น้อยกว่าที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นกล่าว ศาลฎีกาพิจารณาเห็นว่า ที่พิพาทจะมีไม้ยืนต้นไม่แน่นหนาเต็มตลอดเนื้อที่ก็ดี แต่ก็ยังมีอยู่ไม่น้อย ที่ศาลอุทธรณ์มีความเห็นว่าไม้บางชนิดตามปกติเป็นไม้ป่าหรือขึ้นเองนั้นไม่แน่ และปรากฏว่าไม้ยืนต้นเหล่านี้ส่วนมากก็ให้ผลอยู่เป็นปกติเช่นมังคุด มะปราง พะเนียง สะตอและระกำ ถึงมังคุดจะยังไม่ออกผลอีก 10 ต้น แต่ก็ปรากฏว่าเป็นต้นไม้ที่ใหญ่แล้ว ไม่มีทางจะว่าไม่ใช่ไม้ยืนต้นประจำสวน ศาลฎีกาเห็นว่าที่พิพาทมีไม้ยืนต้นเพียงพอที่จะฟังว่าเป็นที่สวนตามความในกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จบทที่ 42แล้วฉะนั้น เมื่อเจ้าของยังมิได้ทอดทิ้งไปถึง 9 ปี 10 ปี ก็หาขาดสิทธิไม่ คดีมิได้ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 1375 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา และเรื่องนี้จำเลยไปเสาะแสวงหาใบเหยียบย่ำมาแล้วเข้าบุกรุกยึดถือเอาที่สวนพิพาทของโจทก์เป็นเวลาเพียงปีเศษเท่านั้น หาทำให้จำเลยเกิดสิทธิในที่สวนพิพาทของโจทก์ไม่ไม่มีทางที่จำเลยจะชนะคดีโจทก์ได้
เรื่องอำนาจฟ้องคดีของโจทก์นั้น ศาลล่างทั้งสองก็วินิจฉัยมาถูกต้องทุกประการแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ได้
ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช และให้จำเลยใช้ค่าธรรมเนียมแทนโจทก์จงครบตลอดทุกศาลพร้อมด้วยค่าทนายความ 3 ศาลรวม 500 บาท
ฎีกาของจำเลยให้ยกเสีย