โจทก์ทั้งสามสิบสี่ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามสิบสี่เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จำเลยที่ 1 ได้หักเงินจากค่าจ้างของโจทก์ทั้งสามสิบสี่เข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และจำเลยที่ 1 ต้องจ่ายเงินสมทบให้แก่สมาชิกเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จำเลยที่ 2 โดยมีหลักเกณฑ์ให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำเลยที่ 2 จ่ายเงินสะสมและเงินสมทบพร้อมผลประโยชน์ของเงินดังกล่าวให้แก่สมาชิก เมื่อสมาชิกซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ออกจากงานโดยไม่ได้กระทำความผิด ต่อมาโจทก์ทั้งสามสิบสี่ได้ลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้กระทำความผิดแต่จำเลยทั้งสองไม่จ่ายเงินสมทบพร้อมผลประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสามสิบสี่ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสามสิบสี่
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ทั้งสามสิบสี่กระทำผิดข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ข้อ 8.1 ซึ่งระบุให้สมาชิกต้องแจ้งให้คณะกรรมการกองทุนทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน ก่อนวันสิ้นสุดสมาชิกภาพ หากสมาชิกไม่แจ้งล่วงหน้าให้คณะกรรมการกองทุนทราบ นายจ้างสงวนสิทธิที่จะไม่จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบได้ โจทก์ทั้งสามสิบสี่ไม่ได้แจ้งล่วงหน้าตามข้อกำหนดดังกล่าว จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบ และข้อบังคับกองทุนข้อ 8.4 ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับจำนวนเงินที่สมาชิกจะได้รับเงินสมทบหรือไม่ เป็นอัตราส่วนเท่าไร ขึ้นอยู่กับอายุการทำงานของสมาชิกและวันที่สมัครเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 ก่อนหรือหลังวันที่ 1 เมษายน 2544 โจทก์หลายคนมีอายุการทำงานไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้รับเงินสมทบหรือได้รับเงินสมทบเต็มจำนวนเท่ากับเงินสะสมของโจทก์แต่ละคน อีกทั้งตามข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำเลยที่ 2 ข้อ 9.15 กำหนดให้ข้อพิพาทใดๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าระหว่างนายจ้างกับบริษัทจัดการ หรือบริษัทจัดการกับสมาชิก ทายาท... ในเรื่องเกี่ยวกับกองทุนหรือการบริหารกองทุน หรือผลประโยชน์อันสืบเนื่องมาจากกองทุนนี้ คณะกรรมการกองทุนจะเป็นผู้ตัดสินข้อพิพาท ฯลฯ โจทก์ทั้งสามสิบสี่นำคดีมาฟ้องโดยยังไม่ได้นำเรื่องเสนอให้คณะกรรมการของจำเลยที่ 2 ชี้ขาดข้อพิพาทเสียก่อนจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายเงินสมทบ หรือผลประโยชน์ของเงินสมทบให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 7 โจทก์ที่ 9 ถึงที่ 26 โจทก์ที่ 28 ถึงที่ 30 โจทก์ที่ 32 ถึงที่ 34 ตามจำนวนเงินที่ระบุไว้ในตารางเงินสมทบที่โจทก์เรียกร้องพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ยกฟ้องส่วนของโจทก์ที่ 8 โจทก์ที่ 27 และโจทก์ที่ 31
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "ตามข้อเท็จจริงที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางปรากฏว่า ได้มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลุ่มบริษัท ไอ. พี. ซึ่งจดทะเบียนแล้วคือจำเลยที่ 2 ขึ้น จำเลยที่ 2 จึงเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 7 คณะกรรมการกองทุนจำเลยที่ 2 หรือผู้จัดการกองทุนมีหน้าที่จ่ายเงินให้ลูกจ้างเมื่อลูกจ้างสิ้นสภาพตามมาตรา 23 โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โจทก์ทั้งสามสิบสี่จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลุ่มบริษัท ไอ. พี. ซึ่งจดทะเบียนแล้ว (จำเลยที่ 2) ให้แก่โจทก์ทั้งสามสิบสี่ ปัญหานี้แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ยกมาอุทธรณ์ก็ตามแต่อำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) และมาตรา 246 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามข้ออุทธรณ์ต่อไปเพียงว่า โจทก์ทั้งสามสิบสี่ยังมิได้ดำเนินการตามข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ข้อ 9.15 ก่อน จะมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ข้อ 9.15 ระบุว่า "ข้อพิพาทใดๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าระหว่างนายจ้างกับบริษัทจัดการ หรือบริษัทจัดการกับสมาชิก ทายาท ตัวแทนของสมาชิก หรือผู้รับสิทธิประโยชน์ของสมาชิกผู้นั้น ในเรื่องเกี่ยวกับกองทุนหรือการบริหารกองทุนหรือสิทธิหรือผลประโยชน์อันสืบเนื่องมาจากกองทุนนี้ คณะกรรมการกองทุนจะเป็นผู้ตัดสินข้อพิพาทนั้น โดยคะแนนเสียงฝ่ายข้างมากตามที่ได้ระบุไว้ในวรรคแรกของข้อ 4.2.9" ตามข้อบังคับดังกล่าวมีความหมายว่า หากมีข้อพิพาทระหว่างนายจ้าง หรือสมาชิก หรือทายาท หรือตัวแทนของสมาชิก หรือผู้รับสิทธิประโยชน์ของสมาชิกฝ่ายหนึ่งกับบริษัทจัดการฝ่ายหนึ่งในเรื่องของกองทุนการบริหารงานหรือสิทธิประโยชน์ที่เกิดขึ้น จะต้องให้คณะกรรมการกองทุนในฐานะตัวแทนของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายสมาชิกตัดสินข้อพิพาทนั้น การกำหนดแนวทางระงับข้อพิพาทดังกล่าวเป็นการกำหนดเพื่อใช้ระหว่างนายจ้าง บริษัทจัดการ สมาชิกหรือทายาทหรือตัวแทนที่ยอมรับให้ใช้ระหว่างกันเป็นการภายใน แต่แนวทางระงับข้อพิพาทตามข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ข้อ 9.15 นี้ มิใช่ขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติก่อนจึงจะดำเนินการในศาลแรงงานได้ดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 วรรคสอง แต่อย่างใด จึงไม่ผูกพันโจทก์ทั้งสามสิบสี่ที่จะต้องนำข้อพิพาทนี้ให้คณะกรรมการกองทุนเป็นผู้ตัดสินตามข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ข้อ 9.15 ก่อนจึงจะนำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงานได้ ดังนั้น แม้โจทก์ทั้งสามสิบสี่จะมิได้นำข้อพิพาทให้คณะกรรมการกองทุนตัดสินก่อนก็มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ได้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองประการต่อไปว่า จำเลยที่ 2 จะต้องชำระเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 7 โจทก์ที่ 9 ถึงที่ 26 โจทก์ที่ 28 ถึงที่ 30 และโจทก์ที่ 32 ถึงที่ 34 หรือไม่ เห็นว่า ตามข้อบังคับของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลุ่มบริษัท ไอ. พี. ซึ่งจดทะเบียนแล้ว เอกสารหมาย ล.6 ข้อ 8.1 ระบุว่า "เมื่อสมาชิกสิ้นสภาพจากการเป็นสมาชิกกองทุน เพราะเหตุอื่นนอกจากกองทุนยกเลิกในเดือนใด ให้คณะกรรมการกองทุนแจ้งเป็นหนังสือต่อบริษัทจัดการภายใน 5 วันทำการ นับจากวันที่สมาชิกสิ้นสุดสมาชิกภาพโดยหนังสือดังกล่าวจะต้องแจ้งชื่อผู้รับประโยชน์ หรือบุคคลผู้มีสิทธิที่จะได้รับเงินจากกองทุนด้วย (ถ้ามี) ทั้งนี้สมาชิกต้องแจ้งให้คณะกรรมการกองทุนทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน ก่อนวันสิ้นสุดสมาชิกภาพ หากสมาชิกไม่ได้แจ้งล่วงหน้าให้คณะกรรมการกองทุนทราบ นายจ้างสงวนสิทธิที่จะไม่จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบ" ตามข้อบังคับดังกล่าวกำหนดให้สมาชิกที่สิ้นสุดสมาชิกภาพจะต้องแจ้งให้คณะกรรมการกองทุนทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน ก่อนวันสิ้นสุดสมาชิกภาพ มิฉะนั้น นายจ้างสงวนสิทธิในการจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบ ซึ่งตามข้อบังคับจำเลยที่ 2 ข้อ 8.3 ถึงข้อ 8.5 ปรากฏว่า เมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงสมาชิกจะได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์จากเงินสะสม เงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบ และมีข้อยกเว้นที่สมาชิกไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับจำเลยที่ 2 ข้อ 8.3 เพียง 6 ประการเท่านั้น ซึ่งข้อยกเว้นดังกล่าวไม่รวมถึงกรณีลูกจ้างลาออกหรือการตกลงเลิกสัญญาจ้างแรงงานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างด้วย ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 มีโครงการให้พนักงานลาออกเพราะการนำเครื่องจักรมาใช้แทนพนักงานบางส่วนโดยจะจ่ายเงินให้ตามกฎหมาย แต่ไม่มีพนักงานคนใดลาออกจากเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 4 ธันวาคม 2546 โจทก์ดังกล่าวได้ยื่นใบลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 โดยระบุให้มีผลเป็นการลาออกในวันที่ 5 ธันวาคม 2546 จำเลยที่ 1 อนุมัติการลาออกในวันที่ 4 ธันวาคม 2546 และโจทก์ดังกล่าวได้รับเงินจากจำเลยที่ 1 ตามสิทธิที่ระบุในโครงการเต็มใจจากกันด้วยดี ดังนั้น เมื่อโจทก์ดังกล่าวลาออกโดยไม่ปรากฏว่าได้กระทำผิดประการใดใน 6 ประการตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับจำเลยที่ 2 ข้อ 8.3 จำเลยที่ 2 จึงต้องจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบังคับจำเลยที่ 2 ข้อ 8.4 และข้อ 8.5 แก่โจทก์ดังกล่าว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น..."
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง