โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 28, 31, 61, 70, 75, 76, 78 พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 38, 79, 91 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้แผ่นดีวีดีของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายจำนวน 3 แผ่น ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และสั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1), 70 วรรคสอง ให้รอการกำหนดโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 กับให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติจำนวน 3 ครั้ง ภายในกำหนด 1 ปี ส่วนที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องปรากฏว่าจำเลยจำหน่ายแผ่นดีวีดีภาพยนตร์ทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งโดยสภาพของกิจการดังกล่าวไม่มีการขอใบอนุญาตหรือออกใบอนุญาตโดยเฉพาะ ไม่อาจปฏิบัติตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 จึงให้ยกคำร้องในส่วนนี้ (ที่ถูกยกฟ้องในส่วนนี้) ของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์ตามฟ้องให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยตามคำฟ้องเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 79 หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 5 บัญญัติให้เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นนายทะเบียนกลาง มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ และเป็นนายทะเบียนประจำกรุงเทพมหานคร แสดงให้เห็นว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ในการควบคุมและดูแลการประกอบกิจการเกี่ยวกับภาพยนตร์ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อวัฒนธรรมอันดี ทั้งย่อมรวมถึงความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนด้วย และตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง บัญญัติถึงลักษณะการกระทำที่เป็นความผิดเกี่ยวกับการประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์ว่า "ห้ามผู้ใดประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน" และบัญญัติถึงหลักเกณฑ์เป็นแนวทางในการอนุญาตไว้ต่อไปในวรรคสองว่า "ใบอนุญาตนั้น ให้ออกสำหรับสถานที่ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์แต่ละแห่ง" ในวรรคสามว่า "การขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง" และยังมีมาตรา 41 บัญญัติว่า "ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา 37 และมาตรา 38 ต้องแสดงใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ สถานที่ประกอบกิจการ" ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า ในส่วนลักษณะความผิดตามมาตรา 38 วรรคหนึ่งมีองค์ประกอบเพียงการกระทำด้วยการประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์ในลักษณะที่ทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน และการไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนเท่านั้น ไม่ได้บัญญัติจำกัดว่าต้องกระทำในสถานที่ใดเลยซึ่งย่อมตรงกับวัตถุประสงค์ในการให้หน่วยงานของรัฐสามารถควบคุมดูแลการประกอบกิจการดังกล่าว โดยกระทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนตามมาตรา 38 วรรคสองและวรรคสาม รวมทั้งมาตรา 41 ที่บัญญัติเกี่ยวกับใบอนุญาตให้ออกให้สำหรับสถานที่ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่าย รวมทั้งบังคับให้ต้องแสดงใบอนุญาตโดยเปิดเผยเห็นได้ง่าย ก็เห็นได้ว่าเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวเช่นกัน โดยทำให้เจ้าพนักงานสามารถทราบและตรวจสอบสถานที่ของผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตได้โดยสะดวก ทั้งยังช่วยแยกให้เห็นได้โดยสะดวกว่า สถานที่ใดประกอบกิจการโดยได้รับใบอนุญาต และสถานที่ใดประกอบกิจการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ดังนี้ การมีสถานที่ประกอบการหรือไม่ จึงเป็นเพียงเงื่อนไขสำหรับนายทะเบียนในการพิจารณาว่าควรอนุญาตหรือไม่อนุญาตเท่านั้น โดยไม่มีเหตุผลที่จะต้องตีความจำกัดเกินกว่าที่กฎหมายบัญญัติถึงขนาดว่า หากสภาพของกิจการมีการประกอบกิจการโดยไม่มีสถานที่ประกอบการเป็นหลักแหล่งแน่นอนแล้วไม่เป็นความผิดตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีแต่จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ไร้ประสิทธิภาพและไม่ได้ผลตามวัตถุประสงค์ ดังนั้นสถานที่ประกอบกิจการย่อมไม่ใช่องค์ประกอบความผิดฐานนี้ และเมื่อโจทก์บรรยายฟ้องแสดงข้อเท็จจริงในความผิดนี้ว่า จำเลยกระทำการในการประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายแผ่นดีวีดีภาพยนตร์ โดยทำเป็นธุรกิจทางอินเทอร์เน็ต และระบุถึงเว็บไซต์หรือเว็บเพจเพื่อการติดต่อโดยได้รับประโยชน์ตอบแทน โดยจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน มีสถานที่เกิดเหตุในแขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร และตำบลบางแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เกี่ยวพันกัน ก็ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวแล้ว และเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพก็ย่อมฟังข้อเท็จจริงได้ว่า จำเลยกระทำการครบถ้วนตามองค์ประกอบความผิดดังกล่าว จึงมีความผิดตามฟ้องในฐานนี้ด้วย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องในความผิดฐานนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการกำหนดโทษจำเลยนั้น เห็นว่า ในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นมีดีวีดีภาพยนตร์ของกลางเพียง 3 แผ่น ซึ่งเป็นจำนวนไม่มาก ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางใช้ดุลพินิจรอการกำหนดโทษนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง, 79 อีกฐานหนึ่งด้วย โดยเป็นความผิดต่างกรรมกับความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษให้เรียงกระทงลงโทษในความผิดฐานนี้ต่างหากตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้ลงโทษปรับ 200,000 บาท รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วคงปรับ 100,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง