โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นจำนวน 149,000 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องจำนวน 1,149,000 บาท
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ในฐานะทายาทโดยธรรมของนางดาวเรือง ร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2545 จนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าจ้างว่าความจำนวน 440,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 13 สิงหาคม 2545) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนโจทก์
โจทก์และจำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังว่า นางดาวเรือง มารดาของจำเลยทั้งสี่ว่าจ้างโจทก์เป็นทนายความแก้ต่างในคดีหมายเลขดำที่ 333/2535 ของศาลจังหวัดปทุมธานี ที่ถูกนางรุจิรากับพวกรวม 4 คน ฟ้องเรื่องที่ดิน โดยโจทก์ตกลงรับจ้างว่าความให้แก่นางดาวเรืองจนกว่าคดีจะถึงที่สุด และคดีดังกล่าวถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ยืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2543 ต่อมาเดือนมกราคม 2545 นางดาวเรืองถึงแก่ความตาย จำเลยทั้งสี่เป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของนางดาวเรืองผู้ตาย
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสี่ว่า จำเลยทั้งสี่จะต้องชำระค่าจ้างว่าความแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด ในปัญหานี้ พยานโจทก์มีโจทก์และนางวันเพ็ญ ภริยาโจทก์เบิกความประกอบกันว่า ในวันที่ตกลงว่าจ้าง จำเลยที่ 1 และนางดาวเรืองนำสำเนาคำฟ้องมาที่บ้านโจทก์และมีการว่าจ้างโจทก์เป็นทนายความว่าความให้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด โจทก์ตรวจสำเนาคำฟ้องและสอบข้อเท็จจริงแล้ว คำฟ้องระบุเนื้อที่ดินที่พิพาทตามใบไต่สวนมีประมาณ 13 ไร่ ทราบว่าที่ดินพิพาทในขณะนั้นราคาไร่ละไม่ต่ำกว่า 5,000,000 บาท และจำเลยที่ 1 แจ้งว่ามีคนมาขอซื้อแต่ถูกนางรุจิราฟ้องคดีเสียก่อน โจทก์จึงเรียกค่าจ้างว่าความและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นเงิน 1,200,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 และนางดาวเรืองขอลด โจทก์ว่าเป็นคดีที่ต้องต่อสู้กันหลายปี ไม่จัดเป็นคดีที่จะตกลงกันได้ ถ้าไปว่าจ้างทนายความคนอื่นจะคิดอัตราค่าจ้างในราคาสูงและต้องเรียกเก็บล่วงหน้าครึ่งหนึ่ง ในขณะนั้นจำเลยที่ 1 และนางดาวเรืองยังไม่มีเงินชำระค่าจ้างล่วงหน้าจึงได้เจรจาและตกลงค่าจ้างว่าความกันว่าจะจ่ายเมื่อคดีถึงที่สุดเป็นเงิน 1,000,000 บาท ต่อมาโจทก์ยื่นคำให้การและฟ้องแย้งให้นางดาวเรืองระบุราคาที่ดินพิพาทไร่ละไม่ต่ำกว่า 5,000,000 บาท ส่วนพยานจำเลยทั้งสี่มีจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เบิกความประกอบกันว่า ในวันที่ตกลงว่าจ้างโจทก์ จำเลยทั้งสี่และนางดาวเรืองนำสำเนาคำฟ้องไปปรึกษากับโจทก์ที่บ้านโจทก์ โจทก์บอกว่าเป็นเพื่อนเรียนกับจำเลยที่ 1 ไม่รู้จะคิดค่าจ้างว่าความอย่างไร โจทก์จึงคิดค่าจ้างว่าความแยกเป็นในแต่ละชั้นศาล โดยศาลชั้นต้นเป็นเงิน 50,000 บาท ศาลอุทธรณ์เป็นเงิน 30,000 บาท และศาลฎีกาเป็นเงิน 20,000 บาท นางดาวเรืองชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์ตามแต่ละชั้นศาลครบถ้วนแล้ว และยังสมนาคุณให้แก่โจทก์หลังคดีถึงที่สุดอีก 20,000 บาท เห็นว่า พยานโจทก์ปากตัวโจทก์เบิกความถึงคดีที่นางดาวเรืองมาว่าจ้างให้โจทก์เป็นทนายความตามลำดับโดยละเอียดชัดแจ้ง ทั้งเมื่อพิจารณาคำฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ 333/2535 ของศาลจังหวัดปทุมธานี ที่นางดาวเรืองถูกฟ้องปรากฏว่าที่ดินพิพาทตามใบไต่สวนมีเนื้อที่ประมาณ 13 ไร่ เมื่อโจทก์ยื่นคำให้การและฟ้องแย้งให้นางดาวเรืองก็ระบุราคาที่ดินพิพาทไร่ละไม่ต่ำกว่า 5,000,000 บาท พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีเหตุผลและน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสี่ คดีจึงฟังได้ว่า นางดาวเรืองได้ตกลงว่าจ้างโจทก์เป็นทนายความโดยจะจ่ายค่าจ้างให้เมื่อคดีถึงที่สุดเป็นเงิน 1,000,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในปัญหานี้มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันใด เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ความแจ้งชัดว่า นางดาวเรืองตกลงจะชำระค่าจ้างว่าความให้แก่โจทก์เมื่อคดีถึงที่สุดอันถือเป็นการกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน เมื่อคดีดังกล่าวศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2543 คดีจึงถึงที่สุดในวันดังกล่าว ทั้งนางดาวเรืองจะต้องชำระค่าจ้างว่าความแก่โจทก์ในวันดังกล่าวด้วย การที่นางดาวเรืองเพิกเฉยไม่ชำระถือว่าเป็นฝ่ายผิดนัดตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2543 เป็นต้นไป โดยโจทก์มิพักต้องทวงถามอีกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่นางดาวเรืองผิดนัดโดยผลของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 เมื่อนางดาวเรืองถึงแก่ความตาย จำเลยทั้งสี่เป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของนางดาวเรืองผู้ตายซึ่งต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ความรับผิดต่าง ๆ ด้วย จำเลยทั้งสี่ในฐานะทายาทโดยธรรมจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์เช่นเดียวกันกับนางดาวเรืองซึ่งเป็นเจ้ามรดก โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากต้นเงินที่นางดาวเรืองต้องรับผิดใช้ให้แก่โจทก์นับแต่วันที่นางดาวเรืองผิดนัดจากจำเลยทั้งสี่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจึงไม่ชอบ และที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้เริ่มคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยทั้งสี่ไม่ใช้เงินแก่โจทก์ตามที่ครบกำหนดในหนังสือทวงถามในวันที่ 23 มิถุนายน 2545 ก็ไม่ชอบเช่นกัน เพราะมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสี่จะต้องรับผิดเป็นส่วนตัว แต่เมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหานี้และขอให้ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่เสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2545 เป็นต้นไป ศาลฎีกาจึงกำหนดให้ตามที่โจทก์ขอ ฎีกาของโจทก์ในปัญหานี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท และร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท