โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกอีก ๓ คน ร่วมกันปล้นช้าง ๒ เชือกของนายขอม โดยจำเลยกับพวกใช้อาวุธปืนจะยิงนายสมพงษ์และนายเขียวผู้ดูแลรักษาช้าง และใช้อาวุธปืนยิงช้างทั้งสองเชือกเพื่อเป็นความสะดวกในการปล้นทรัพย์ พาเอาทรัพย์ไป และเพื่อให้พ้นจากการจับกุมขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์๗๐,๐๐๐ บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยใช้ปืนยิงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ ให้จำคุกคนละ ๒๐ ปี ลดโทษให้ตามมาตรา ๗๘ หนึ่งในสาม คงจำคุก (คนละ) ๑๓ ปี ๔ เดือน ให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ ๗๐,๐๐๐ บาทให้เจ้าทรัพย์ด้วย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดเพราะถูกนายเสน่ห์บังคับจนไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ และการกระทำของจำเลยไม่เกินสมควรแก่เหตุ กรณีต้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๗จำเลยไม่ต้องรับโทษ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ก่อนเกิดเหตุราว ๑๕ วัน นายขอมเจ้าของช้างได้ใช้ให้นายสมพงษ์กับนายเขียวควาญช้าง นำช้าง ๒ เชือกไปลากไม้ในป่าวันเกิดเหตุคนทั้งสองออกจากที่พักจะไปดูช้างที่ล่ามไว้ข้างคลอง พบจำเลยทั้งสองกับนายเสน่ห์และชายอีก ๓ คน ถือปืนคนละกระบอก ทั้ง ๖ คนเอาปืนจี้นายสมพงษ์และนายเขียวให้พาไปเอาช้างเมื่อแก้โซ่ล่ามช้างแล้ว จำเลยที่ ๒ ก็บังคับให้นายสมพงษ์กับนายเขียวขึ้นขี่ช้างคนละเชือกจำเลยทั้งสองไล่ช้างให้เดินไปทางทิศตะวันตกนายเสน่ห์กับพวกเดินตามหลังไป ไปห่างที่พักประมาณ ๒ กิโลเมตร คนร้ายทั้งหมดก็บังคับให้นายสมพงษ์และนายเขียวลงจากหลังช้างและให้ล่ามช้างไว้กับต้นไม้แล้วจำเลยที่ ๒ ก็ใช้ผ้าขาวม้าผูกข้อมือของนายสมพงษ์กับข้อมือนายเขียวติดกันให้นั่งห่างจากช้างราว ๓ วา แล้วนายเสน่ห์ก็ใช้ปืนยิงช้างทีละเชือกเมื่อช้างตายแล้วนายเสน่ห์กับพวกก็ใช้มีดชำแหละงาช้าง แล้วบังคับให้นายสมพงษ์และนายเขียวแบกงาช้างเดินทางไป มีปัญหาว่า จำเลยทั้งสองกระทำไปด้วยความจำเป็นเพราะถูกนายเสน่ห์บังคับดังที่จำเลยกล่าวอ้างหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยหาได้กระทำผิดด้วยความจำเป็นเพราะอยู่ในที่บังคับถึงกับไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืน อันจะทำให้จำเลยไม่ต้องรับโทษไม่ แต่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ออกใช้บังคับ โดยข้อ ๑๔ ของประกาศดังกล่าว ได้แก้ไขเพิ่มเติมให้ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรค ๔มีโทษเบากว่าเดิม จึงต้องลงโทษจำเลยตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวแต่ศาลฎีกาเห็นว่า โทษที่ศาลชั้นต้นกำหนดมานั้นชอบด้วยรูปคดีแล้ว
พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรค ๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ข้อ ๑๔ ให้จำคุกจำเลยคนละ ๒๐ ปีคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยคนละ๑๓ ปี ๔ เดือน ให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ ๗๐,๐๐๐ บาทแก่เจ้าทรัพย์ด้วย