คดีสืบเนื่องมาจากผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า เมื่อประมาณปี 2548 ผู้ร้องเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 12588 เนื้อที่ 2 งาน 28 ตารางวา ของนายรชต์เขตต์ โดยเจตนายึดถือเพื่อตน ด้วยความสงบ เปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของ เป็นเวลา 10 ปีเศษ ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว ขอให้มีคำสั่งว่าที่ดินดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 12588 เนื้อที่ 2 งาน 28 ตารางวา ตามกรอบเส้นสีแดง ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 คดีถึงที่สุดแล้ว
ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งที่ให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 12588 โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 เพื่อให้ที่ดินกลับมาเป็นของนายรชต์เขตต์ตามเดิม เพื่อที่ผู้ร้องสอดจะได้ดำเนินการบังคับคดีต่อไป
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องสอด
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ว่า ผู้ร้องสอดมีอำนาจยื่นคำร้องคัดค้าน (ที่ถูก คำร้องสอด) เข้ามาในคดีนี้ได้หรือไม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอของผู้ร้องสอด ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องสอดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องสอดฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในเบื้องต้นข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เดิมนายรชต์เขตต์ เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ต่อมานายรชต์เขตต์ค้างชำระค่าภาษีอากร 267,880,741 บาท (ยังไม่รวมเงินเพิ่มตามกฎหมาย) เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2551 ผู้ร้องสอดอาศัยอำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 ยึดที่ดินดังกล่าวเพื่อนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระภาษีอากรของนายรชต์เขตต์ ต่อมาเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2560 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาท โดยอ้างว่าเมื่อประมาณปี 2548 ผู้ร้องได้ยึดถือครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาเป็นเวลา 10 ปีเศษ ศาลชั้นต้นประกาศนัดไต่สวนคำร้องแล้วไม่มีผู้ใดคัดค้าน จึงมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท คดีถึงที่สุด ผู้ร้องนำคำสั่งศาลไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินทำการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์เป็นชื่อผู้ร้องแล้วเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2561 ต่อมาผู้ร้องสอดจึงยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีนี้
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องสอดว่า ผู้ร้องสอดมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2551 ผู้ร้องสอดอาศัยอำนาจตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร ยึดที่ดินพิพาทของนายรชต์เขตต์เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างก่อนที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของนายรชต์เขตต์โดยการครอบครองปรปักษ์เป็นคดีนี้ ทั้งนี้ ประมวลรัษฎากร มาตรา 12 วรรคสอง บัญญัติว่า "เพื่อให้ได้รับชำระภาษีอากรค้างให้อธิบดีมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรได้ทั่วราชอาณาจักร โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่ง อำนาจดังกล่าวอธิบดีจะมอบให้รองอธิบดีหรือสรรพากรเขตก็ได้" และตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 ทวิ ได้บัญญัติบังคับไว้ว่า "เมื่อได้มีคำสั่งยึดหรืออายัดตามมาตรา 12 แล้ว ห้ามผู้ใดทำลายย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่บุคคลอื่นซึ่งทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดดังกล่าว" จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติตามประมวลรัษฎากรนี้เป็นบทบัญญัติพิเศษให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานที่จะเรียกเก็บภาษีอากรค้างได้ โดยสั่งยึดและสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินได้เอง โดยไม่จำต้องนำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาล และเมื่อมีคำสั่งยึดหรืออายัดแล้ว บุคคลใดจะทำลาย ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่บุคคลอื่นซึ่งทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดดังกล่าวไม่ได้ สิทธิของผู้ร้องสอดตามประมวลรัษฎากรจึงถือได้ว่าเป็นสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย เมื่อกฎหมายให้อำนาจแก่ผู้ร้องสอดไว้โดยเฉพาะถึงขนาดนี้แล้วการที่ผู้ร้องนำคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อดำเนินการขอเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเป็นชื่อของผู้ร้อง ถือได้ว่าเป็นการดำเนินการในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งหากเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการให้ ย่อมจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งและถูกโต้แย้งสิทธิที่จะร้องขอเข้ามาในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) แม้ว่าในคดีนี้ผู้ร้องจะได้นำคำสั่งศาลไปดำเนินการจดทะเบียนที่ดินให้ผู้ร้องถือกรรมสิทธิ์แล้ว แต่ก็ปรากฏว่าเป็นการดำเนินการภายหลังจากที่ผู้ร้องสอดได้ยึดที่ดินพิพาทไว้แล้วตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 อันมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การจดทะเบียนที่ดินนั้นชอบหรือไม่ ชอบที่ศาลชั้นต้นจะรับคำร้องขอของผู้ร้องสอดไว้เพื่อดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยถึงข้อโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องสอดในชั้นบังคับคดีให้ตามรูปคดีต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งงดสืบพยานและยกคำร้องขอของผู้ร้องสอดมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องสอดฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวน แล้วมีคำวินิจฉัยใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่