โจทก์ฟ้องว่า จำเลยนี้เป็นทายาทผู้รับมรดกที่ดินแปลงหนึ่งของนายไข่แดงร่วมกับทายาทอื่น จำเลยกับทายาทได้แบ่งที่ดินดังกล่าวออกเป็น ๔ แปลง จำเลยได้แปลงที่ ๑ นางสมบัติได้แปลงที่ ๒ นางแห้วได้แปลงที่ ๓ และนายแก้วได้แปลงที่ ๔ ที่แปลงที่ ๑ ของจำเลยอยู่ติดถนนสาธารณะ ส่วนแปลงที่ ๒ ของนางสมบัติอยู่ข้างใน นางสมบัติตายที่ดินแปลงที่ ๒ ตกได้แก่นางกิมหิ้ง นางสาวชูศรี และนางสาวจีระนันท์ซึ่งได้ใช้ทางเดินกว้างประมาณ ๒ เมตร ผ่านที่ดินของจำเลยจากที่แปลงที่ ๒ออกสู่ถนนสาธารณะเป็นเวลาติดต่อกันราว ๔๐ ปี จนได้ภาระจำยอมบุคคลทั้งสามได้ขายที่ดินแปลงที่ ๒ ให้โจทก์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ ต่อมาพ.ศ. ๒๕๒๑ จำเลยปิดทางเดินนั้นเสีย จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยเปิด
จำเลยให้การว่า เจ้าของที่ดินแปลงที่ ๒ ไม่เคยเดินผ่านที่ดินของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เจ้าของที่ดินเดิมแปลงที่ ๒ เดินออกสู่ถนนสาธารณะโดยอาศัยสิทธิของจำเลย ที่ดินของจำเลยจึงไม่ตกอยู่ในภารจำยอม พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ดินแปลงที่ ๑ จำเลยได้กรรมสิทธิ์เมื่อวันที่ ๑๐มกราคม ๒๔๙๘ ส่วนที่ดินแปลงที่ ๒ นางกิมหิ้ง นางสาวชูศรี และนางสาวจีระนันท์ได้กรรมสิทธิ์เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๗ ต่อมาวันที่๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๑๙ บุคคลทั้งสามได้ขายให้โจทก์ ที่ดินแปลงที่ ๒ ไม่มีทางเดินออกสู่ทางสาธารณะตรอกหนองฉาง แต่มีทางเดินกว้าง ๒ เมตรอยู่ในที่ดินแปลงที่ ๑ ออกสู่ตรอกหนองฉางได้ ข้อเท็จจริงโจทก์จำเลยนำสืบรับกันว่า ในที่ดินแปลงที่ ๑ ที่ตกได้แก่จำเลยมีบ้านมรดกอยู่ ๑ หลังนางสมบัติ นางกิมหิ้ง นางสาวชูศรี และนางสาวจีระนันท์ต่างอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ตลอดมา เพิ่งย้ายออกไปตอนขายที่ดินแปลงที่ ๒ ให้โจทก์แล้วศาลฎีกาเห็นว่า การที่เจ้าของที่ดินแปลงที่ ๒ เดิมทั้งสามคนอยู่ในบ้านมรดกนั้นเป็นการอยู่โดยใช้สิทธิอาศัยที่ดินของจำเลย ฉะนั้น การที่บุคคลทั้งสามใช้ทางเดินในที่ดินจำเลยออกไปสู่ทางสาธารณะตรอกหนองฉางก็ดี เข้าไปเก็บผลอาสินในที่ดินแปลงที่ ๒ ก็ดี หรือแม้เดินออกจากที่ดินแปลงที่ ๒ผ่านที่ดินจำเลยไปสู่ทางสาธารณะก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นการเดินโดยใช้สิทธิอาศัยที่มีอยู่แล้วทั้งสิ้น หาใช่ใช้สิทธิอาศัยและใช้สิทธิปรปักษ์ในเวลาเดียวกันดังโจทก์ฎีกาไม่ แม้บุคคลทั้งสามดังกล่าวจะใช้ทางเดินในที่ดินของจำเลยติดต่อกันมาถึง ๔๐ ปีแล้วก็ตาม ก็ไม่ได้ภารจำยอมโดยอายุความและถึงแม้โจทก์จะเคยใช้ทางเดินในที่ดินแปลงที่ ๑ ของจำเลยเมื่อตอนซื้อที่ดินแปลงที่ ๒ แล้วก็ยังไม่ถึงสิบปี ที่ดินแปลงที่ ๑ จึงยังไม่ตกเป็นภารจำยอมแก่เจ้าของที่ดินแปลงที่ ๒ หรือโจทก์โดยอายุความ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน