ได้ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของห้องแถวในเขตต์เทศบาลเมืองพนัศนิคม จังหวัดชลบุรี ถูกเพลิงไหม้ในเดือนเมษายน ๒๔๘๗ และยังไม่ได้ปลูกสร้างขึ้นใหม่ในพ.ศ.๒๔๘๗ จำเลยได้เรียกเก็บภาษีโรงร้านสำหรับ พ.ศ.๒๔๘๖ไปแล้ว แต่เนื่องจากมีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินในเขตต์เทศบาลตั้งแต่ มกราคม ๒๔๘๗ จำเลยได้เรียกเก็บภาษีโรงเรือนจากโจทก์ใน พ.ศ.๒๔๘๗ อีก ซึ่งเรียกเก็บเต็มปี ในพ.ศ.๒๔๘๘ จำเลยได้เรียกเก็บภาษีโรงเรือนจากโจทก์อีก ๓ เดือน โจทก์จึงฟ้องเรียกภาษีที่จำเลยเก็บเกินคืน จำเลยต่อสู้ว่า เก็บถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยคืนภาษีที่เก็บเกินให้โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ภาษีโรงร้านนั้น เป็นภาษีประจำปีที่แล้ว แต่มาเก็บในปีต่อมา ส่วนภาษีโรงเรือนนั้นปีใดเจ้าพนักงานก็เก็บปีนั้น โรงเรือนรายนี้ของโจทก์ถูกไฟไหม้ทำลาย โจทก์คงมีโรงเรือนอยู่ในพ.ศ.๒๔๘๗ เพียง ๓ เดือน ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ๒๔๗๕ มาตรา ๑๑ โจทก์ชอบที่จะได้รับค่าภาษีประจำปี ๒๔๘๗ ที่จำเลยเก็บไว้เต็มปีนี้คืนตามส่วนเวลาที่โจทก์ไม่มีโรงเรือน ส่วนมาตรา ๑๘ แห่ง พ.ร.บ.นี้เป็นแต่เพียงหลักในการคำนวนภาษีที่จะเก็บ คือเอาค่ารายปีของปีที่แล้วมาเป็นหลักคำนวนเก็บภาษีไม่ได้ หมายความว่าภาษีโรงเรือนประจำ พ.ศ.๒๔๘๗ เป็นภาษีของปี ๒๔๘๖ ฉะนั้นจำเลยจึงต้องคืนภาษีโรงเรือนประจำ พ.ศ.๒๔๘๗ ให้แก่โจทก์ ตามที่โจทก์ฟ้อง และที่จำเลยเก็บภาษีโรงเรือนประจำปี พ.ศ.๒๔๘๘ ด้วย ก็ไม่ถูกต้อง เพราะใน พ.ศ.๒๔๘๘ โจทก์ไม่มีโรงเรือนเลย จึงต้องคืนด้วย
พิพากษายืน