โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157, 161, 91 และให้จำเลยคืนเงิน 2,018,170 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) 161 (เดิม) เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ปรับ 2,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน ปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 เนื่องจากจำเลยได้ชดใช้เงินตามฟ้องคืนให้แก่ผู้เสียหายครบถ้วนแล้ว คำขอให้คืนเงินท้ายฟ้องโจทก์จึงให้ยก ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 (เดิม) และ 161 (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 120 กระทง ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 2 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 240 ปี 720 เดือน โดยไม่ลงโทษปรับและไม่รอการลงโทษ แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วจำคุกจำเลยไม่เกิน 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยรับราชการตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี 5 สำนักงานทางหลวงที่ 8 เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่บันทึกบัญชีเกณฑ์เงินคงค้าง จัดทำรายงานประจำเดือน บันทึกบัญชีเงินทดรองราชการ จัดทำทะเบียนคุมเงินทดรองราชการ จัดทำทะเบียนใบเสร็จรับเงิน จัดทำทะเบียนเงินคงเหลือประจำวัน จัดทำรายงานค่าใช้จ่ายเงินงบประมาณ จัดทำรายงานค่าใช้จ่ายงบลงทุนและได้รับมอบหมายให้จัดทำบัญชีและเป็นผู้ช่วยหัวหน้าการเงินและบัญชี ลงบัญชีและสรุปยอดประจำวันเพื่อนำส่งหัวหน้างานการเงินและบัญชีทุกวัน ได้เบียดบังเอาเงินของกรมทางหลวงผู้เสียหายไปเป็นของตนเองโดยทุจริตรวม 119 ครั้ง เป็นเงิน 1,811,649 บาท และยังปลอมแปลงเอกสารใบเสร็จรับเงินเล่มที่ 40112 เลขที่ 054 โดยการขีดฆ่าตัวเลขจำนวนเงิน 4,500 บาท และข้อความ (สี่พันห้าร้อยบาท) แล้วเขียนใหม่เป็น 3,500 บาท และ(สามพันห้าร้อยบาท) แล้วเบียดบังเอาเงินของผู้เสียหายไปเป็นของตนเองโดยทุจริตอีก 1,000 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 บัญญัติว่า "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ต้องระวางโทษ" ดังนั้น จะต้องได้ความว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดเสียก่อน จึงจะลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ได้ แต่จำเลยมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามบันทึกของสำนักงานทางหลวงที่ 8 ฉบับลงวันที่ 1 ตุลาคม 2556 และฉบับลงวันที่ 16 มิถุนายน 2547 โดยบันทึกดังกล่าวฉบับลงวันที่ 1 ตุลาคม 2546 ระบุว่าจำเลยมีหน้าที่บันทึกบัญชีเกณฑ์เงินคงค้างและจัดทำรายงานประจำเดือน บันทึกบัญชีเงินทดรองราชการ จัดทำทะเบียนคุมเงินทดรองราชการและจัดทำรายงานประจำเดือน จัดทำทะเบียนเงินชดเชยกรรมสิทธิ์ที่ดินและสมุดเงินฝากธนาคารออมสิน เก็บและคืนหลักประกันซอง จัดทำทะเบียนใบเสร็จรับเงิน จัดทำทะเบียนเงินคงเหลือประจำวัน จัดทำรายงานค่าใช้จ่ายเงินงบประมาณ (แบบ จ.1 จ.2) จัดทำรายงานค่าใช้จ่ายงบลงทุน จัดทำรายงานแผน/ผลรายไตรมาสส่ง ผอง. จัดทำรายงานเงินนอกงบประมาณ (เงินประกันซอง, เงินประกันสัญญา) และปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย ส่วนบันทึกลงวันที่ 16 มิถุนายน 2547 ก็ระบุหน้าที่และความรับผิดชอบของจำเลยเช่นเดิมเพียงแต่ให้จำเลยมีหน้าที่จัดทำรายงานส่งคลังจังหวัดวันที่ 3 และ 25 ของเดือน เพิ่มเติมด้วยเท่านั้น หาได้กำหนดความรับผิดชอบให้จำเลยมีหน้าที่จัดการหรือรักษาเงินของผู้เสียหายด้วยไม่ ซึ่งนางสาวจุฑารัตน์ หัวหน้างานของจำเลยเคยให้การในชั้นสอบสวนว่า ตามปกติจำเลยมีหน้าที่ในการจัดทำบัญชี ไม่มีหน้าที่ในการรับเงินรายได้ใด ๆ อันเป็นการยืนยันว่าจำเลยไม่ได้มีหน้าที่จัดการหรือรักษาเงินของสำนักงานทางหลวงที่ 8 ตามกรอบหน้าที่และความรับผิดชอบ ส่วนที่นางสาวจุฑารัตน์ ทำบันทึกข้อความเรื่องการรับเงินทุกประเภท ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2546 มีข้อความว่า "เมื่อมีการนำเงินมาจ่ายให้เจ้าหน้าที่บัญชีในหน่วยงานทุกท่านไม่ว่าจะเป็นเงินงบประมาณ เช่น ค่าไฟฟ้า บ้านพัก ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำประปา หรืออื่น ๆ เงินฌาปนกิจและเงินนอกงบประมาณชนิดอื่น ๆ เจ้าหน้าที่ทุกท่านลงรับในใบเสร็จได้ แต่ต้องให้เจ้าหน้าที่การเงินทุกท่าน (ขรก.) เป็นผู้เซ็นชื่อรับเงินทุกครั้งและนำเงินส่ง หง.ทล.8 ทุกวัน สำหรับใบเสร็จรับเงินค่าฌาปนกิจที่ใช้อยู่เดิม ให้ยกเลิกทั้งหมดและใช้ใบเสร็จรับเงินที่แนบมานี้แทน ผู้มีหน้าที่รับเงินได้แก่ 1. จำเลย (กรณีจำเป็นไม่มีเจ้าหน้าที่ผู้อื่นอยู่) 2. คุณทวี 3. คุณสุชาดา 4. คุณสุปราณี ทั้งนี้ให้เริ่มปฏิบัติ ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2546 เป็นต้นไป" นั้น นางสาวจุฑารัตน์เบิกความว่า พยานออกหนังสือดังกล่าวโดยไม่ได้อาศัยอำนาจตามกฎหมายใด แต่ออกเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เท่านั้น นอกจากนี้นางสาวจุฑารัตน์ยังให้การในชั้นสอบสวนว่า พยานได้มีหนังสือเวียนลงวันที่ 8 สิงหาคม 2546 แจ้งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาในสายงานทราบถึงการปฏิบัติในการส่งเงินรายได้ในหน้าที่ของทุกคนต้องส่งมายังพยานโดยตรง แต่ก็ยังมีการส่งเงินให้แก่จำเลยจึงเกิดปัญหานี้ จึงรับฟังได้ว่า การออกบันทึกข้อความหนังสือเวียนดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติที่รับเงินนำส่งมาให้นางสาวจุฑารัตน์จัดการหรือรักษาไว้ หาได้เป็นบันทึกมอบหมายให้จำเลยมีหน้าที่จัดการหรือรักษาเงินนั้นด้วยไม่ เมื่อจำเลยมิได้มีหน้าที่จัดการหรือรักษาเงินของผู้เสียหาย การที่จำเลยเบียดบังยักยอกเงินของผู้เสียหายที่จำเลยรับมาตามบันทึกของนางสาวจุฑารัตน์ไปเป็นของตนเองโดยทุจริตจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ตามที่โจทก์ฟ้องแม้จำเลยจะให้การรับสารภาพศาลก็ไม่อาจลงโทษจำเลยในข้อหานี้ได้ ต้องพิพากษายกฟ้องในข้อหาความผิดนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง แต่การที่จำเลยรับเงินของผู้เสียหายมาแล้วเบียดบังไปเป็นของตนเองโดยทุจริต ถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นหน่วยงานของทางราชการ จำเลยเป็นเจ้าพนักงาน แต่กลับกระทำความผิดอาญาต่อหน่วยงานราชการที่ตนสังกัดอยู่ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ทั้งโจทก์ได้บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการกรมทางหลวงผู้เสียหาย ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาด้วยแล้ว จึงลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดนี้ได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความแล้วไม่อาจลงโทษจำเลยได้นั้น เห็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มีอายุความ 15 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (2) จำเลยกระทำความผิดในปี 2546 ถึง 2547 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2560 ยังไม่เกิน 15 ปี นับแต่วันกระทำความผิด ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความสามารถลงโทษจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า สมควรรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยจะเป็นผู้หญิงและมีอายุมากแล้ว แต่ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นข้าราชการตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี 5 สำนักงานทางหลวงที่ 8 เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ สมควรที่จำเลยจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อสนองคุณแผ่นดิน แต่จำเลยกลับอาศัยโอกาสที่นางสาวจุฑารัตน์ไว้วางใจให้จำเลยช่วยรับเงินต่าง ๆ ยักยอกเอาเงินนั้นไปเป็นของตนเองติดต่อกัน หลายครั้งหลายหนเป็นเวลานานนับปีโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายแผ่นดิน ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการเป็นอย่างมาก พฤติการณ์การกระทำของจำเลยจึงเป็นเรื่องร้ายแรง ไม่สมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยนับว่าเป็นการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 119 กระทง จำคุกกระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 238 ปี และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) และ 161 (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 240 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 120 ปี แต่ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์