โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2538 เวลากลางวัน จำเลยได้ลักเอาเงินสด1,100,000 บาท ของบริษัทธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(11) และให้จำเลยคืนเงิน 1,100,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(11) วรรคแรก ลงโทษจำคุก 4 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 1,100,000 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นลูกจ้างของผู้เสียหาย ประจำอยู่ที่สาขาสำเพ็ง แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร โดยทำหน้าที่รับและจ่ายเงินที่ลูกค้ามาฝากและถอน ซึ่งผู้เสียหายเรียกตำแหน่งนี้ว่า พนักงานรับจ่ายเงินสาขาสำเพ็งของผู้เสียหาย มีช่องสำหรับลูกค้ามาฝากและถอนเงิน 12 ช่อง โดยพนักงานรับจ่ายเงินจะผลัดเปลี่ยนกันนั่งช่องละ 2 วัน วันเกิดเหตุที่อ้างว่าเงินหาย คือวันที่ 30 มีนาคม 2538 จำเลยนั่งที่ช่องหมายเลข 3 ช่องฝากถอนเงินแต่ละช่องมีคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง เป็นอุปกรณ์สำหรับพนักงานรับจ่ายเงินใช้ทำรายการฝากถอนข้อมูลของลูกค้าจะถูกส่งไปเก็บในเครื่องคอมพิวเตอร์เก็บข้อมูลแม่ข่ายที่สำนักงานใหญ่พนักงานรับจ่ายเงินมีเลขรหัสและบัตรประจำตัวสำหรับใช้ทำรายการฝากถอน และมีอำนาจรับจ่ายเงินเพียงภายในวงเงินที่ได้รับอำนาจ หากมีการฝากถอนเกินอำนาจ จะต้องขออนุมัติจากผู้มีอำนาจสูงกว่า จำเลยใช้เลขรหัสประจำตัว 112067 และมีอำนาจทำรายการฝากถอนได้ครั้งละไม่เกิน 1,000,000 บาท
มีปัญหาวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้อง หรือเป็นเพียงความผิดฐานยักยอก เห็นว่า จำเลยเป็นพนักงานของผู้เสียหายมีหน้าที่รับจ่ายเงินสดแทนผู้เสียหาย จำเลยมีอำนาจยึดถือเงินสดของผู้เสียหายไว้เพียงชั่วระยะเวลาทำการ พฤติการณ์เช่นนี้ เป็นการที่จำเลยยึดถือเงินสดเพื่อผู้เสียหาย ผู้เสียหายได้ส่งมอบเงินสดให้อยู่ในความครอบครองของจำเลยไม่ เมื่อจำเลยเอาเงินสดนั้นไปเป็นของตนโดยไม่มีสิทธิ อันเป็นการทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์
พิพากษายืน