โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารหยุดบุกรุกและออกไปจากที่ดินของโจทก์ ให้ต้นยางพาราที่จำเลยปลูกตกเป็นส่วนควบของที่ดิน ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง ให้จำเลยชำระค่าขาดประโยชน์ปีละ 45,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้พิพากษาว่า ที่ดินพิพาทตามโฉนดเลขที่ 6276 และโฉนดเลขที่ 8290 เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ให้โจทก์ไปดำเนินการแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 6276 และโฉนดเลขที่ 8290 ตามแนวเขตเส้นสีชมพูในแผนที่พิพาท ให้ส่งมอบที่ดินพิพาทคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายปีละ 45,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากที่ดินพิพาท ยกฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องของโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 6276 และเลขที่ 8290 เฉพาะส่วนที่ดินพิพาทในกรอบเส้นสีชมพูตามแผนที่พิพาท ให้ยกฟ้องของโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 8290 และที่ดินโฉนดเลขที่ 6276 ที่ดินทั้งสองแปลงอยู่ติดกันโดยที่ดินโฉนดเลขที่ 8290 ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 18 ไร่ 69 ตารางวา อยู่ตอนบนของที่ดินโฉนดเลขที่ 6276 ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ 1 งาน 21 ตารางวา ที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ประมาณ 9 ไร่ 48.1 ตารางวา มีส่วนตอนบนอยู่ในเขตโฉนดที่ดินเลขที่ 8290 และส่วนตอนล่างอยู่ในเขตโฉนดที่ดินเลขที่ 6276 ตามแผนที่พิพาทพื้นที่สีชมพู
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า แม้ที่ดินพิพาทจะอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอบ้านแพง อำเภอท่าอุเทน และกิ่งอำเภอโพนสวรรค์ อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2534 ก็ตาม แต่หากในเขตปฏิรูปที่ดินมีที่ดินของเจ้าของที่ดินผู้มีสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินอยู่ก่อนแล้ว รัฐจะนำที่ดินนั้นมาจัดให้แก่เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินของตนเองหรือเกษตรที่มีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพและสถาบันเกษตรกรได้ก็แต่โดยวิธีที่รัฐจัดซื้อหรือเวนคืนจากเจ้าของที่ดินซึ่งมิได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นด้วยตนเอง หรือมีที่ดินเกินสิทธิ ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 4, 28, 29, 32, 34, และ 35 เช่นนี้ ลำพังแต่เพียงที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินหาทำให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 36 ทวิ ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยมาไม่ คดีปรากฏว่าในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินในคดีนี้ใช้บังคับที่ดินตามโฉนดเลขที่ 8290 และโฉนดเลขที่ 6267 ของโจทก์ซึ่งที่ดินพิพาทอยู่ในเขตโฉนดยังคงเป็นที่ดินที่มีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 845 และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 846 ซึ่งทางราชการออกให้ในปี 2517 ตามลำดับ ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นโฉนดที่ดินตามความในมาตรา 58 ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ในปี 2541 ตามคำเบิกความของนายอาภรณ์ ช่างรังวัดสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครพนม พยานจำเลยที่ตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ปรากฏว่า หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) สำหรับที่ดินทั้งสองแปลงในคดีนี้ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไม่สามารถนำที่ดินซึ่งมีเอกสารสิทธิ เช่น น.ส. 3 ก. หรือโฉนดที่ดินมาจัดสรรเป็นที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ เว้นแต่เจ้าของที่ดินจะขายให้ ทั้งไม่ได้ความว่ามีการจัดซื้อหรือเวนคืนที่ดินพิพาทตามวิธีการที่กฎหมายกำหนดแล้ว ที่ดินพิพาทจึงยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามโฉนดที่ดินทั้งสองแปลง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามที่จำเลยแก้ฎีกาว่า จำเลยแย่งการครองครองหรือครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจนโจทก์สิ้นสิทธิแล้วก่อนนำคดีมาฟ้องหรือไม่ โดยประเด็นข้อนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยังไม่ได้วินิจฉัยตามข้ออุทธรณ์ของจำเลยซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเลยทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวน เห็นว่า ข้อที่จำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทมีนายบุญเติม เข้าทำกินมาตั้งแต่ปี 2508 ก่อนจะโอนขายให้ด้วยการส่งมอบการครอบครองให้จำเลยเข้าทำกินในปี 2538 นั้น เดิมที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ในปี 2517 ในนามของโจทก์แปลงหนึ่ง และในนามของนางสาวธัญญภรณ์ น้องสาวโจทก์อีกแปลงหนึ่ง ก่อนที่จะจดทะเบียนโอนขายให้โจทก์ในเวลาต่อมา นายบุญเติมพยานจำเลยเบิกความตอบคำถามของทนายโจทก์ว่า การออก น.ส. 3 ก. จะต้องมีการออกไปรังวัดและสอบสวนสิทธิสอดคล้องกับที่ปรากฏในภาพถ่ายแบบบันทึกการสอบสวนสิทธิและพิสูจน์การทำประโยชน์ดังกล่าวว่า ในการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ดังกล่าว มีโจทก์ในฐานะเจ้าของแปลงหนึ่งและในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากนางสาวธัญญภรณ์เจ้าของอีกแปลงหนึ่งเป็นผู้นำเจ้าพนักงานทำการพิสูจน์สอบสวนสิทธิและการทำประโยชน์ในที่ดิน เหตุใดนายบุญเติมจึงไม่โต้แย้งคัดค้าน ยิ่งกว่านั้นในปี 2520 ทั้งโจทก์และนางสาวธัญญภรณ์ต่างนำที่ดินทั้งสองแปลงจดทะเบียนจำนองเป็นประกันแก่ธนาคารทหารไทย จำกัด จึงยากที่จะเป็นไปว่าธนาคารทหารไทย จำกัด จะยอมรับจำนองทั้งที่มีนายบุญเติมมิใช่โจทก์และนางสาวธัญญภรณ์ที่ทำกินอยู่ในที่ดิน ที่นายอาภรณ์ ช่างรังวัดสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครพนม พยานจำเลย เบิกความว่า เห็นจำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2537 หรือ 2538 นั้น ก็ดูเป็นพิรุธสงสัยว่าเหตุใดจำเลยจึงเพิ่งได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทในปี 2552 ล่าช้าไปนานกว่าสิบปีโดยไม่ปรากฏเหตุผลจากทางนำสืบของจำเลย อีกทั้งหากจำเลยมีสิทธิโดยสมบูรณ์ในที่ดินพิพาทแล้วก็ยากที่จะเชื่อว่าจำเลยยอมสละความเป็นเจ้าของเปลี่ยนไปเป็นการขออนุญาตเข้าทำกินในที่ดินพิพาทต่อสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครพนมแทน เช่นนี้ เมื่อจำเลยมีภาระการพิสูจน์ในประเด็นข้อนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเข้าครอบครองทำกินในที่ดินพิพาทต่อจากนายบุญเติมมาตั้งแต่ปี 2538 ดังที่กล่าวอ้าง หากแต่เพิ่งจะเข้ามาทำกินตามหนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครพนมเมื่อปี 2552 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่ที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์มีการเปลี่ยนเอกสารสิทธิจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ไปเป็นโฉนดที่ดินตั้งแต่ปี 2541 แล้ว ฉะนั้น ข้ออ้างของจำเลยในเรื่องการแย่งการครอบครองจึงเป็นอันตกไป และเมื่อโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องในปี 2557 การครอบครองของจำเลยจึงยังไม่ถึงสิบปี ไม่ทำให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ข้อต่อสู้ของจำเลยตามคำแก้ฎีกาฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยกล่าวมาในคำแก้ฎีกาอีกข้อหนึ่งที่ขอให้บังคับตามฟ้องแย้งของจำเลยนั้น นอกจากคดีจะฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แล้ว การที่จะขอบังคับให้เป็นไปตามฟ้องแย้งนั้น จำเลยซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีในฟ้องแย้งตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะต้องทำเป็นคำฟ้องฎีกา จะขอมาในคำแก้ฎีกาหาได้ไม่ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท