คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องเรียกหนี้เงินกู้ยืมตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากจำเลยทั้งสอง ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน1,296,399.50 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย โดยจำเลยทั้งสองผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือนแต่จำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระ โจทก์จึงขอหมายบังคับคดีนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3316เล่ม 34 ก. หน้า 16 เลขที่ดิน 93 ตำบลหนองกี่ อำเภอหนองกี่จังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง อ้างว่าเป็นทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำนองไว้แก่โจทก์ เพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นของผู้ร้อง โดยผู้ร้องซื้อมาจากบุคคลภายนอกโดยสุจริต และโจทก์มิได้บอกกล่าวบังคับจำนองแก่ผู้ร้อง โจทก์จึงไม่มีสิทธินำยึด ขอให้ศาลสั่งปล่อยที่ดินพิพาท
โจทก์ให้การว่า จำเลยที่ 1 จำนองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์ตั้งแต่ปี 2524 จำเลยที่ 1 ไม่เคยนำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่บุคคลใด ที่ดินพิพาทยังเป็นของจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียวที่ดินของผู้ร้องเป็นคนละแปลงกับที่ดินพิพาท ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษากลับ ให้ปล่อยที่ดินพิพาท โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันฟังได้ยุติว่าจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองที่พิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3316 ตำบลหนองกี่อำเภอหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ต่อมาจำเลยทั้งสองผิดนัดโจทก์จึงได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยทั้งสองโดยมิได้บอกกล่าวไปยังผู้ร้องด้วย ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อแรกมีว่าที่พิพาทกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 3665 ซึ่งผู้ร้องรับโอนมาจากนายวิบูลย์ ตั้งอดุลยรัตน์และนายประสงค์ ศรีหิรัญรัตน์ เป็นที่ดินแปลงเดียวกันหรือไม่เห็นว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้งสองฉบับมีตำแหน่งที่ดิน เลขที่ดิน ระวางรูปถ่ายทางอากาศ เลขที่ดินข้างเคียง และแนวเขตติดต่อตรงกัน นายบุญส่ง บุญโปร่งผู้เช่าที่ดินจากผู้ร้องก็เบิกความว่า เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2534เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ไปยึดที่พิพาท นายบุญส่งจึงได้โทรศัพท์แจ้งให้นายสุรสิทธิ์ โรจน์กนก กรรมการผู้จัดการบริษัทผู้ร้องทราบนายสุรสิทธิ์ได้มอบหมายให้นายกิติสาร สีมีแสง ไปตรวจสอบที่ธนาคารโจทก์ และสอบถามจากจำเลยแล้วจำเลยยอมรับว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ทั้งสองฉบับเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน จำเลยได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซ้ำกัน เหตุที่ทำเช่นนั้นเพราะจำเลยได้นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ฉบับแรกไปจำนองไว้แก่โจทก์แล้วขอเพิ่มวงเงินจำนองไม่ได้ จึงได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) ซ้ำอีกฉบับหนึ่งแล้วนำไปจำนองแก่นายสมพงษ์ พิทักษ์เสรีกุล ต่อมาจำเลยได้ไถ่ถอนจำนองแล้วโอนขายให้แก่นายวิบูลย์และนายประสงค์ ต่อมานายวิบูลย์และนายประสงค์โอนขายให้แก่ผู้ร้อง โจทก์เองมิได้นำสืบหักล้างในข้อนี้ เพียงแต่นำสืบว่าไม่ทราบว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้งสองฉบับจะเป็นที่ดินแปลงเดียวกันหรือไม่แม้ผู้ร้องจะไม่ได้อ้างจำเลยที่ 1 มานำสืบยืนยัน แต่ฟังได้ว่าที่พิพาทกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 3665คือที่ดินแปลงเดียวกัน ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์บังคับจำนองโดยมิได้มีจดหมายบอกกล่าวแก่ผู้ร้อง ซึ่งเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองล่วงหน้าเดือนหนึ่งได้หรือไม่ที่โจทก์ฎีกาว่า ผู้ร้องมิใช่ผู้รับโอนโดยชอบนายวิบูลย์และนายประสงค์ล้วนเป็นกรรมการบริษัทผู้ร้อง ได้โอนที่ให้ผู้ร้องโดยไม่สุจริตเป็นการฉ้อฉลโจทก์เพื่อนำเงินมาแบ่งปันกันนั้น โจทก์เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ แต่อย่างไรก็ดี ผู้ร้องรับโอนที่พิพาทโดยเข้าครอบครองทำประโยชน์และรับโอนทางทะเบียนตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ซึ่งออกทับที่พิพาทซ้ำกับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ฉบับที่โจทก์รับจำนองและยึดถือไว้ โดยโจทก์ไม่ทราบมาก่อนจึงไม่มีทางที่โจทก์จะมีจดหมายบอกกล่าวแก่ผู้ร้องล่วงหน้าก่อนบังคับจำนองได้ การที่ผู้ร้องรับโอนที่พิพาทมาในลักษณะดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองตามความมุ่งหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 735 โจทก์จึงไม่ต้องบอกกล่าวแก่ผู้ร้องล่วงหน้าก่อนบังคับจำนอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่าโจทก์ยังมิได้บอกกล่าวบังคับจำนองแก่ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธินำยึดที่พิพาทนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย"
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น