โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 และ 177
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตเลื่อนคดี เนื่องจากโจทก์อาศัยอยู่ในประเทศแคนาดา มีอายุครรภ์ใกล้คลอด ไม่สามารถเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยได้ในช่วงนี้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี ยกคำร้อง แล้วมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติในชั้นอุทธรณ์ว่า ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 22 ธันวาคม 2563 ขอเลื่อนคดี (ครั้งที่ 3) โดยอ้างเหตุสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อยู่ในเวลาที่รัฐบาลขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ถึงวันที่ 15 มกราคม 2563 ประกอบกับโจทก์ตั้งครรภ์อาศัยอยู่ประเทศแคนาดามีอายุครรภ์ใกล้คลอดไม่สามารถเดินทางมาในประเทศไทยได้ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี ยกคำร้อง ตามรายงานกระบวนพิจารณา ฉบับลงวันที่ 22 ธันวาคม 2563 แล้วต่อมาในวันที่ 24 ธันวาคม 2563 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้โจทก์เลื่อนคดีเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวน อุทธรณ์ของโจทก์ไม่มีข้อความตอนใดเป็นการอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาด้วย อุทธรณ์ของโจทก์จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 196 ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย คดีมีประเด็นวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยอุทธรณ์ของโจทก์ ฉบับลงวันที่ 23 เมษายน 2564 มีถ้อยคำล้อกับอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 28 ธันวาคม 2563 มีข้อความว่า "ขอยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำร้องขอเลื่อนคดี ฉบับลงวันที่ 22 ธันวาคม 2563" มีคำบรรยายว่า เนื่องจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประกอบกับโจทก์มีอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ สายการบินไม่อนุญาตให้เดินทาง ภัยจากโรคร้ายและการเดินทางเป็นอันตรายต่อโจทก์และลูกในครรภ์ ขอให้ศาลอุทธรณ์กลับคำสั่งที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องขอเลื่อนคดีของโจทก์ อนุญาตให้เลื่อนคดีสักครั้งหนึ่ง เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 196 การอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณานอกจากจะอุทธรณ์ได้เมื่อศาลพิพากษาแล้ว จะต้องมีการอุทธรณ์คำพิพากษานั้นด้วย ซึ่งหมายความว่า ผู้อุทธรณ์นอกจากจะโต้แย้งว่าคำสั่งระหว่างพิจารณาไม่ชอบอย่างไรแล้ว จะต้องโต้แย้งในเนื้อหาของคำพิพากษาว่าไม่ถูกต้องอย่างไรด้วย โดยในส่วนหลังนี้ต้องบรรยายให้ได้ความครบถ้วนตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคสอง จึงจะเป็นอุทธรณ์ที่จะพึงรับไว้พิจารณา ซึ่งเมื่อพิจารณาถ้อยคำในอุทธรณ์ของโจทก์แล้ว โจทก์โต้แย้งแต่เพียงว่าศาลชั้นต้นไม่ควรงดสืบพยานเพียงประการเดียว แต่ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่า เนื้อหาคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น ขัดกับข้อเท็จจริงหรือขาดข้อเท็จจริงใดที่สมควรจะมีอยู่ หรือมีข้อกฎหมายสารบัญญัติใดที่ไม่ถูกต้อง เช่น อาจบรรยายว่าพยานหลักฐานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมีน้ำหนัก หรือหากมีการสืบพยานต่อไปพยานโจทก์จะมีน้ำหนักพอให้ลงโทษจำเลยได้เพราะอย่างไร เป็นต้น ดังนี้ กรณีฟังได้ว่าโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 196 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นต้องด้วยความเห็นศาลฎีกาแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน