โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑, ๒๙๑, พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓, ๗๘, ๑๕๗, ๑๖๐
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ (๔), ๗๘ วรรคหนึ่ง, ๑๕๗, ๑๖๐ วรรคหนึ่ง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และฐานขับรถโดยประมาทเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑ ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุก ๔ ปี ฐานหลบหนีไม่แสดงและแจ้งเหตุ จำคุก ๒ เดือน รวม ๒ กระทง จำคุก ๔ ปี ๒ เดือน จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ จำคุก ๒ ปี ๑ เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จากคำบรรยายฟ้องของโจทก์เห็นได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยจอดรถยนต์อยู่บนถนนมิใช่จำเลยขับรถยนต์อยู่ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ (๒) บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน และมาตรา ๗๘ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้ใดขับรถหรือขี่หรือควบคุมสัตว์ในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี้หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์หรือไม่ก็ตาม ต้องหยุดรถ หรือสัตว์ และให้ความช่วยเหลือตามสมควร และพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที กับต้องแจ้งชื่อตัว ชื่อสกุล และที่อยู่ของตนและหมายเลขทะเบียนรถแก่ผู้ได้รับความเสียหายด้วย ความมุ่งหมายของกฎหมายทั้งสองมาตราดังกล่าวประสงค์ที่จะลงโทษผู้ขับขี่ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาวเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน และลงโทษผู้ขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควร และพร้อมทั้งแสดงตัวแล้แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที หาใช่กรณีผู้ขับรถที่จดรถอยู่ไม่ เหตุคดีนี้เกิดเพราะจำเลยกระทำโดยประมาทจอดรถยนต์บนถนนในที่มืดโดยไม่เปิดสัญญาณไผและไม่ทำสัญญาณแสดงว่ามีรถยนต์จอดอยู่ เป็นเหตุให้ผู้ตายทั้งสองซึ่งขับรถจักรยานยนต์ซ้อนท้ายกันมาชนท้ายรถยนต์ของจำเลย แล้วจำเลยหลบหนีไป การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ (๔), ๗๘ วรรคหนึ่ง แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลก็ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา ๒๒๕
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ปรับ ๑๐,๐๐๐ บาท ลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ แล้ว คงปรับ ๕,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ ๒ ปี และคุมความประพฤติจำเลยไว้ ๑ ปี นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ ๔ ครั้ง ภายใน ๑ ปี ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควร มีกำหนด ๒๐ ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามมาตรา ๒๙, ๓๐ ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ นอกจาก ที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๔ .