โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้สาบานตัวว่าจะให้การตามความสัตย์จริงต่อศาลในการพิจารณาคดีอาญาหมายเลขดำที่ 126/2510 ที่ 127/2510ที่ 304/2510 และที่ 306/2510 ของศาลจังหวัดสงขลาซึ่งศาลได้สั่งให้พิจารณารวมกัน จำเลยบังอาจเบิกความอันเป็นเท็จต่อศาลจังหวัดสงขลาในการพิจารณาคดีดังกล่าว และความเท็จที่จำเลยเบิกนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี กล่าวคือ
ก. จำเลยเบิกความเท็จว่า เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2509 เวลาประมาณ 1 ทุ่ม จำเลยจะเข้าไปอาบน้ำในห้องพักเลขที่ 468 ของโรงแรมแสงฟ้า จำเลยเปิดประตูห้องดังกล่าวจะเข้าไป มองเห็นคน 5 - 6 คน อยู่ในห้องนั้น จำเลยจำได้ 3 คน คือ นายจิวเต็กเบ๋ง นายฮวดและอีกคนหนึ่งที่มาพักกับนายโกบุ่น ซึ่งความจริงจำเลยเข้าไปในห้องพักเลขที่ 468 ของโรงแรมมีนายโกบุ่น นายจิวเต็กเบ๋ง นายฮวด และนายอากังพักอยู่ จำเลยเห็นนายวิเชียรและนายเซหล่ำอยู่ในห้องนั้นอีก 2 คนด้วย
ข. จำเลยเบิกความเท็จว่า เมื่อวันที่ 27 เดือนเกิดเหตุตำรวจจับนายเซหล่ำได้แล้วเวลาประมาณ 5 โมงเช้า ร้อยตำรวจโทสล้างให้จำเลยดูรูปถ่ายของนายเซหล่ำ โดยไม่ได้ดูตัวนายเซหล่ำ ซึ่งความจริงวันที่ 28 เดือนเกิดเหตุ ร้อยตำรวจโทสล้างกับพวกให้จำเลยดูตัวนายเซหล่ำที่ตำรวจจับมาได้ จำเลยดูแล้วยืนยันว่านายเซหล่ำคือคนที่ร่วมใช้รถยนต์เลขทะเบียน ย.ล.00885 และเป็นคนที่ร่วมประชุมอยู่กับนายโกบุ่น นายจิวเต็กเบ๋ง นายฮวด นายอากัง และนายวิเชียร ในห้องเลขที่ 468 ของโรงแรมแสงฟ้าเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2509
ค. จำเลยเบิกความเท็จว่า ต่อมารองผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 9 ฯลฯ ให้จำเลยชี้ตัวคนร้ายและห้องพักในโรงแรมและถ่ายภาพไว้ จำเลยชี้ตัวนายวิเชียรและนายเซหล่ำเพราะตำรวจให้ชี้ จำเลยไม่เคยเห็นหน้าคนทั้งสองมาก่อน ซึ่งความจริงจำเลยชี้บุคคลดังกล่าวและระบุว่าเป็นคนที่จำเลยเห็นมาประชุมกับนายโกบุ่น ฯลฯ ในห้องเลขที่ 468 ของโรงแรมแสงฟ้า ด้วยความสมัครใจของจำเลยเอง
ง. จำเลยเบิกความเท็จว่า จำเลยเคยเห็นตำรวจยศนายสิบเอากระบองไฟฟ้าจี้ที่คอนายเซหล่ำ 2 - 3 ครั้ง ซึ่งความจริงไม่มีตำรวจคนใดกระทำเช่นนั้น
การที่จำเลยเบิกความเท็จดังกล่าว อาจเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้องนายวิเชียรและนายเซหล่ำ จำเลยในคดีอาญาดำที่ 127/2510 ของศาลชั้นต้นได้ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นเห็นว่าในการที่ศาลจะวินิจฉัยในเรื่องเบิกความเท็จนั้น จำเป็นจะต้องรู้ก่อนว่าข้อความอย่างไรเป็นข้อความที่แท้จริงและเป็นข้อสำคัญในคดี เมื่อศาลได้รู้ว่าความจริงเป็นเช่นไรแล้วจึงจะวินิจฉัยได้ว่าอย่างไรเป็นความเท็จ พยานโจทก์เท่าที่สืบยังไม่พอฟังว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องโจทก์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยเบิกความผิดไปจากความจริงที่ได้เห็นได้รู้และได้กระทำไว้ นับได้ว่าเป็นความเท็จ แต่ข้อความเท็จที่จำเลยเบิกความมิใช่ข้อสำคัญในคดีเรียกค่าไถ่ ตามคดีอาญาดำที่ 127/2510 ของศาลจังหวัดสงขลา จำเลยยังไม่มีความผิด พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่า คำเบิกความอันเป็นเท็จของจำเลยแต่ละตอนเป็นข้อสำคัญในคดี ซึ่งถ้าศาลฟังว่าคำเบิกความของจำเลยเป็นความจริงก็อาจเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้องคดีดังกล่าวได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์บรรยายแต่เพียงว่า จำเลยเบิกความอันเป็นเท็จ ซึ่งจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นความเท็จต่อศาลจังหวัดสงขลาในการพิจารณาคดีของศาลดังกล่าวคดีอาญาหมายเลขดำที่ 126/2510,127/2510, 304/2510 และ 306/2510 และความเท็จที่จำเลยเบิกนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ศาลฎีกาเห็นว่า คำเบิกความของจำเลยเป็นข้อสำคัญในคดีหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมาย โจทก์กล่าวในฟ้องว่าจำเลยเบิกความอันเป็นเท็จในข้อสำคัญในคดี จึงเป็นการกล่าวข้อกฎหมาย ซึ่งโจทก์จะต้องบรรยายข้อเท็จจริงให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยต้องด้วยข้อกฎหมายที่โจทก์อ้างมานั้นอย่างไรพิจารณาตามคำฟ้องของโจทก์ไม่อาจทราบได้ว่าคดีก่อนมีข้อกล่าวหากันว่าอย่างไร ข้อที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเบิกความอันเป็นเท็จในคดีนี้ เป็นข้อสำคัญในคดีก่อนอย่างไรฟ้องของโจทก์จึงมิได้บรรยายการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) อันศาลจะพึงประทับไว้พิจารณาไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาข้ออื่นต่อไป
พิพากษายืนในผลที่ให้ยกฟ้อง