โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 ตามฟ้องข้อ 2.1 จำคุก 3 ปี ทางพิจารณาและคำแถลงของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุก 1 ปี 6 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสามแล้ว คงจำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า องค์การสวนพฤกษศาสตร์เป็นรัฐวิสาหกิจ จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนพฤกษศาสตร์ พ.ศ.2535 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2555 องค์การสวนพฤกษศาสตร์ โดยนายจุลยุทธ รักษาการผู้อำนวยการองค์การสวนพฤกษศาสตร์มีคำสั่งให้โจทก์ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนตรวจสอบการบริหาร การเงิน การคลังและการดำเนินงาน และรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบภายในตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2555 ตามคำสั่งองค์การสวนพฤกษศาสตร์ที่ 185/2555 ต่อมาวันที่ 18 กรกฎาคม 2556 องค์การสวนพฤกษศาสตร์ทำสัญญาจ้างจำเลยทำงานบริหารในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การสวนพฤกษศาสตร์นับตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2556 ถึงวันที่ 4 พฤษภาคม 2559 จำเลยในฐานะผู้อำนวยการองค์การสวนพฤกษศาสตร์เป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการองค์การสวนพฤกษศาสตร์โดยตำแหน่งตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนพฤกษศาสตร์ พ.ศ.2535 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง และจำเลยเป็นผู้บริหารสูงสุดมีหน้าที่เสนอความเห็นให้แก่คณะกรรมการองค์การสวนพฤกษศาสตร์เพื่อประกอบการพิจารณาแต่งตั้ง โยกย้าย ถอดถอน เลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง และประเมินผลงานของหัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายในตามข้อเสนอของคณะกรรมการตรวจสอบ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยคณะกรรมการตรวจสอบและหน่วยตรวจสอบภายในของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2555 ข้อ 5 ข้อ 17 และข้อ 20 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2556 คณะกรรมการตรวจสอบมีมติเสนอแต่งตั้งให้โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบภายใน และนายธัชสกล ประธานกรรมการตรวจสอบมีหนังสือแจ้งไปยังจำเลยเพื่อให้จำเลยเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาให้แก่คณะกรรมการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ ตามหนังสือลงวันที่ 24 ตุลาคม 2556 ต่อมาวันที่ 22 พฤศจิกายน 2556 มีการประชุมคณะกรรมการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ ครั้งที่ 9/2556 วาระที่ 5.4.1 ประธานกรรมการตรวจสอบรายงานความเห็นและมติของคณะกรรมการตรวจสอบเสนอแต่งตั้งให้โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบภายใน จำเลยเสนอความเห็นว่า ตำแหน่งบริหารระดับผู้อำนวยการสำนักนั้นได้มีแนวทางปฏิบัติคือให้เปิดสรรหาเพื่อให้บุคคลากรภายในองค์การที่มีคุณสมบัติเหมาะสมแสดงความจำนงสมัครเข้ารับการสรรหาได้ ที่ประชุมมีมติรับทราบ หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2556 มีการประชุมคณะกรรมการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ ครั้งที่ 10/2556 วาระที่ 5.3.1 ประธานคณะกรรมการตรวจสอบกล่าวถึงประเด็นเรื่องการแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบภายใน ที่ประชุมมีมติมอบหมายให้จำเลยไปดำเนินการเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ต่อไป ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2557 มีการประชุมคณะกรรมการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ ครั้งที่ 1/2557 วาระที่ 5.2.1 ที่ประชุมมีมติรับทราบผลการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบ ส่วนการแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบภายในนั้นได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางในประเด็นที่ประธานกรรมการตรวจสอบและจำเลยมีความเห็นแย้งกัน โดยจำเลยเสนอความเห็นว่า ควรเปิดให้มีการสรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่ง หลังจากนั้นคณะกรรมการองค์การสวนพฤกษศาสตร์และคณะกรรมการตรวจสอบชุดดังกล่าวหมดวาระลงในวันที่ 31 มกราคม 2557 จนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ก็ยังไม่มีการแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบภายใน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องหรือไม่ และการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 หรือไม่ เมื่อพิจารณาระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยคณะกรรมการตรวจสอบและหน่วยตรวจสอบภายในของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2555 ข้อ 20 ซึ่งกำหนดว่า "การแต่งตั้ง โยกย้าย ถอดถอน เลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง และประเมินผลงานของหัวหน้าหน่วยตรวจสอบภายใน ให้คณะกรรมการตรวจสอบเสนอคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจเพื่อพิจารณา โดยให้ผู้บริหารสูงสุดเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาด้วย" ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการตรวจสอบมีมติเสนอแต่งตั้งให้โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบภายในเสนอต่อคณะกรรมการองค์การสวนพฤกษศาสตร์เพื่อพิจารณา จำเลยในฐานะผู้บริหารสูงสุดมีหน้าที่ต้องเสนอความเห็นให้แก่คณะกรรมการองค์การสวนพฤกษศาสตร์เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาด้วย หากการเสนอความเห็นของจำเลยเป็นไปโดยมิชอบหรือโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายโดยตรงจากการกระทำของจำเลยดังกล่าว จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้อง ส่วนปัญหาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่าจำเลยได้เสนอความเห็นต่อที่ประชุมคณะกรรมการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ ครั้งที่ 9/2556 และครั้งที่ 1/2557 ว่าควรเปิดให้มีการสรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งบริหารระดับผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบภายใน โดยจำเลยได้ยืนยันต่อที่ประชุมว่า ไม่ได้ขัดข้องในเรื่องของตัวบุคคลและยินดีสนับสนุน และเมื่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยคณะกรรมการตรวจสอบและหน่วยตรวจสอบภายในของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2555 ข้อ 20 นั้นไม่ได้บังคับไว้ว่า การเสนอความเห็นของผู้บริหารสูงสุดนั้นต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ผู้บริหารสูงสุดจึงสามารถที่จะเสนอความเห็นด้วยวาจาต่อที่ประชุมคณะกรรมการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ได้ ดังนั้น การแสดงความเห็นด้วยวาจาของจำเลยดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นการเสนอความเห็นให้แก่คณะกรรมการองค์การสวนพฤกษศาสตร์เพื่อประกอบการพิจารณาว่าสมควรแต่งตั้งให้โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบภายในตามที่คณะกรรมการตรวจสอบเสนอหรือไม่ อันเป็นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยคณะกรรมการตรวจสอบและหน่วยตรวจสอบภายในของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2555 ข้อ 20 แล้ว ส่วนที่ประชุมคณะกรรมการองค์การสวนพฤกษศาสตร์มีมติรับทราบและมอบหมายให้จำเลยรับไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป มติดังกล่าวย่อมไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยเพราะจำเลยไม่มีอำนาจสั่งให้มีการสรรหาบุคคลเพื่อมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบภายในได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น เมื่อวินิจฉัยแล้วว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด ฎีกาของจำเลยที่ขอให้รอการลงโทษจึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์