โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 655,220 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 65,522 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 3,931,320 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำนวน 65,522 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จ่ายค่าชดเชยจำนวน 655,220 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี อัตราดอกเบี้ยดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยจะใช้ให้โจทก์เสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการเดียวว่า โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่า ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย บทที่ 7 ข้อ 39 ระบุว่า "พนักงานเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจส่วนตัวที่มีลักษณะงานประเภทเดียวกันหรือเหมือนกันกับนายจ้างถือว่าเป็นความผิดขั้นร้ายแรง" ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าวห้ามมิให้พนักงานเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจส่วนตัวประเภทเดียวกันหรือเหมือนกันกับนายจ้างเพื่อมิให้พนักงานซึ่งรับทราบข้อมูลภายในธุรกิจของนายจ้างแล้วไปดำเนินธุรกิจซึ่งอาจเป็นการแข่งขันกับนายจ้างอันมีผลให้ประโยชน์ส่วนตนของพนักงานกับประโยชน์ของนายจ้างมีความขัดแย้งกัน และอาจเสียหายแก่นายจ้างได้ ตามข้อเท็จจริงที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลาง ปรากฏว่าจำเลยจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2535 มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายคอนกรีตผสมเสร็จโดยโจทก์เข้าทำงานเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2537 จนกระทั่งได้เป็นผู้จัดการเขตภาคเหนือประจำจังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2546 ได้มีการจัดตั้งบริษัทเชียงใหม่คอนกรีตโปรดักส์ (2003) จำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายคอนกรีตผสมเสร็จเช่นเดียวกับจำเลย มีที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่อยู่ในบริเวณเดียวกันกับโรงงานของจำเลย (โรงงานแม่โจ้ เชียงใหม่ 3) โดยมีนางสาวอำพรรณ์ ภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสของโจทก์เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่จำนวน 9,999 หุ้น นอกจากนั้นเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2546 ได้มีการจัดตั้งบริษัทเชียงใหม่เพอร์เฟกท์โฮม จำกัด ประกอบกิจการจัดสรรที่ดินและค้าอสังหาริมทรัพย์ โดยโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวด้วย ดังนั้นการที่โจทก์ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการเขตภาคเหนือของจำเลย มีหน้าที่ในการบริหารงานของจำเลยให้สามารถผลิตสินค้าให้แก่ลูกค้าโดยมีประสิทธิภาพ และรับผิดชอบโรงงานของจำเลยถึง 4 แห่ง คือโรงงานที่จังหวัดเชียงใหม่ 3 แห่ง และโรงงานที่จังหวัดพิษณุโลก 1 แห่ง ไม่ดูแลรักษาประโยชน์ของจำเลย ทราบว่าบริษัทเชียงใหม่คอนกรีตโปรดักส์ (2003) จำกัด ซึ่งประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายคอนกรีตผสมเสร็จเช่นเดียวกับจำเลย จัดตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ในบริเวณเดียวกับโรงงานของจำเลย และให้นางสาวอำพรรณ์ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว พฤติการณ์ของโจทก์จึงเป็นปรปักษ์ต่อทางการค้าของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง เป็นการดำเนินธุรกิจแข่งขันกับจำเลย แม้โจทก์จะไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทเชียงใหม่คอนกรีตโปรดักส์ (2003) จำกัด ด้วยตนเอง แต่เป็นการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจส่วนตัวที่มีลักษณะงานประเภทเดียวกันหรือเหมือนกันกับนายจ้างอันเป็นความผิดร้ายแรงตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานบทที่ 7 ข้อ 39 ซึ่งจำเลยสามารถเลิกจ้างได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานบทที่ 9 ข้อ 4 เมื่อการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมอันเป็นกรณีที่ร้ายแรง จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) และเป็นการกระทำความผิดอย่างร้ายแรงซึ่งจำเลยจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ ทั้งการเลิกจ้างเพราะเหตุที่โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมอันเป็นกรณีที่ร้ายแรงย่อมมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์จึงไม่ถูกต้อง อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์