โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยที่ 1965/2548 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2548 และให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ จำนวน 50,434 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 1 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงรับและไม่โต้เถียงกันมีว่า นายสันติเวชเป็นลูกจ้างของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2542 สิ้นสภาพการจ้างวันที่ 25 พฤษภาคม 2548 นายสันติเวชเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ส่งเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพมาแล้ว 78 เดือน เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2548 นายสันติเวชถึงแก่ความตาย นายสันติเวชไม่เคยสมรสและไม่มีบุตร ส่วนบิดามารดาก็ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ต่อมาศาลจังหวัดลพบุรีมีคำสั่งตั้งโจทก์ซึ่งเป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายสันติเวชให้เป็นผู้จัดการมรดกของนายสันติเวช โจทก์ยื่นคำร้องขอรับเงินบำเหน็จชราภาพ สำนักงานประกันสังคมจังหวัดลพบุรีมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเนื่องจากไม่ใช่ทายาทตามที่กฎหมายกำหนด โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง คณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยที่ 1965/2548 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2548 ว่าโจทก์ไม่ใช่บุคคลตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 77 จัตวา จึงไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ ให้ยกอุทธรณ์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า นายสันติเวชไม่มีทายาทตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 77 จัตวา แต่เงินบำเหน็จชราภาพเป็นมรดก โจทก์ซึ่งเป็นน้องร่วมบิดามารดาของนายสันติเวชจึงเป็นทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 (3) มีสิทธิได้รับมรดกเงินบำเหน็จชราภาพนั้น เห็นว่า แม้ปรากฏตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1965/2548 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2548 ของโจทก์ว่า นายสันติเวชสิ้นสภาพการจ้าง (สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง) เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2548 ซึ่งทำให้ความเป็นผู้ประกันตนของนายสันติเวชสิ้นสุดลงตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 38 (2) ก่อน นายสันติเวชถึงแก่ความตายในวันที่ 26 พฤษภาคม 2548 ก็ตาม แต่พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 77 ทวิ วรรคสอง บัญญัติให้ในกรณีที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงตามมาตรา 38 หรือมาตรา 41 ให้ผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ มาตรา 77 จัตวา วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ในกรณีที่ผู้ประกันตนซึ่งมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพตามมาตรา 77 ทวิ ถึงแก่ความตายก่อนที่จะได้รับประโยชน์ทดแทน ให้ทายาทของผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพซึ่งตามมาตรา 77 จัตวา วรรคสอง บัญญัติให้ทายาทผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพได้แก่ (1) บุตรชอบด้วยกฎหมาย (2) สามีหรือภริยา (3) บิดามารดา หรือบิดาหรือมารดาที่มีชีวิตอยู่ และในวรรคสามบัญญัติให้ในกรณีที่ไม่มีทายาทในอนุมาตราใด หรือทายาทนั้นได้ตายไปเสียก่อนให้แบ่งเงินบำเหน็จชราภาพตามมาตรา 77 (2) ในระหว่างทายาทผู้มีสิทธิในอนุมาตราที่มีทายาทผู้มีสิทธิได้รับ ตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงมีความมุ่งหมายให้ทายาทของผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจะต้องเป็นญาติใกล้ชิดตามที่มาตรา 77 จัตวา วรรคสอง บัญญัติไว้ และทายาทนั้นจะต้องมีชีวิตอยู่ หากเป็นทายาทที่ตายไปเสียก่อน เงินบำเหน็จชราภาพก็จะแบ่งให้เฉพาะในระหว่างทายาทผู้มีสิทธิอื่นต่อไป แม้โจทก์เป็นน้องร่วมบิดามารดาของนายสันติเวชซึ่งเป็นทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 (3) แต่เมื่อโจทก์มิใช่ทายาทผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 77 จัตวา วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว...
พิพากษายืน.