โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 5,784,759.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 5,691,093.75 บาท นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 มกราคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้เป็นทนายความของจำเลยฟ้องนายสุขสันต์ เพียรภักดี เพื่อบังคับให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนด เลขที่ 2064 ตำบลบึงน้ำรักษ์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ 37 ไร่ 3 งาน 1 ตารางวา ตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินซึ่งนายสุขสันต์ทำไว้แก่จำเลย โจทก์ทำหน้าที่ทนายความในคดีดังกล่าวจนศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยชนะคดีเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2537 เห็นว่าสัญญาจ้างว่าความเป็นสัญญาจ้างทำของ ซึ่งกฎหมายมิได้บัญญัติบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ ดังนั้นเพียงแต่คู่สัญญาตกลงว่าจ้างและรับจ้างแล้ว สัญญาย่อมเกิดขึ้นและผูกพันคู่สัญญาให้ต้องปฏิบัติตามนั้น เมื่อจำเลยได้ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความแล้ว ถือได้ว่าจำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ว่าความและโจทก์ตกลงรับจ้างแล้ว จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างมีหน้าที่ต้องปฏิบัติชำระตอบแทนกัน ข้อตกลงตามสัญญาจ้างว่าความจึงเป็นหนี้ที่ต้องชำระแก่กัน เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นทนายความได้ทำงานให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ว่าจ้าง โดยศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยชำระคดี และจำเลยได้รับโอนที่ดินพิพาทมาเป็นประโยชน์แก่ตนแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับสินจ้างตามผลแห่งการงาน แม้สัญญาจ้างว่าความจะมิได้ทำเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ โจทก์ก็มีสิทธิที่จะนำพยานบุคคลมาสืบเพื่อยืนยันว่าได้มีการตกลงค่าจ้างไว้เป็นจำนวนเท่าใด ปัญหาต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นว่า สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์และจำเลยในส่วนข้อตกลงชำระค่าจ้างด้วยวิธีคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่งจากราคาทรัพย์ที่พิพาท และตกลงว่าจะชำระให้เมื่อจำเลยชนะคดีและได้รับโอนที่ดินพิพาทมาแล้ว ถ้าแพ้คดีก็ไม่ต้องจ่าย โจทก์คิดค่าจ้างว่าความร้อยละ 7.5 ของราคาทรัพย์สินขณะที่มีการจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์นั้นเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า วิชาชีพทนายความเป็นวิชาชีพที่มีลักษณะผูกขาดที่ผู้เป็นทนายความได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายหลายประการ รวมทั้งการห้ามมิให้ผู้ที่มิได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เป็นทนายความว่าความในศาล หรือแต่งฟ้อง คำให้การฟ้องอุทธรณ์ แก้อุทธรณ์ฟ้องฎีกาแก้ฎีกา คำร้อง หรือคำแถลงอันเกี่ยวแก่การพิจารณาคดีในศาลให้แก่บุคคลอื่นอย่างผู้ที่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 33 ผู้ที่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เป็นทนายความจึงย่อมมีพันธกรณีต่อสังคมที่จะต้องปฏิบัติและดำรงให้ต้องกับหลักจริยธรรมทางวิชาชีพของทนายความ ในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความในฐานะที่ทนายความมีส่วนสำคัญในการประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมแก่คู่ความดุจเป็นเจ้าหน้าที่ของศาล ทนายความไม่พึงทำสัญญากับลูกความของตนในลักษณะที่ตนเองมีส่วนได้เสียโดยตรงในคดีจนกระทบกระเทือนการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ข้อสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยในส่วนที่ตกลงในสินจ้างกันร้อยละ 7.5 ของราคาทรัพย์สิน และถ้าจำเลยไม่ได้รับที่ดินพิพาทคืน โจทก์จะไม่ได้รับค่าจ้าง เช่นนี้ข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าวมีลักษณะเป็นการหาประโยชน์จากการที่ผู้อื่นเป็นความ หรือยุยงให้ผู้อื่นเป็นความกัน จึงเป็นข้อสัญญาที่ให้ทนายความเข้ามีส่วนได้เสียในทางการเงินโดยตรงในผลของคดี จึงไม่ต้องด้วยหลักจริยธรรมทางวิชาชีพของทนายความย่อมถือว่า เป็นข้อสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ปัญหาข้อนี้แม้คู่ความมิได้อุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบด้วย มาตรา 246, 247 และเมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วคดีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นตามฎีกาของโจทก์ข้ออื่นอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.