ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องคดีประกันสังคมและการพิจารณาความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้างตามกฎหมาย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ คณะกรรมการอุทธรณ์จึงเป็นผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ จำเลยมิได้เป็นผู้มีคำวินิจฉัยจึงไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ อันเป็นประเด็นแห่งคดีซึ่งศาลแรงงานกลางจะต้องมีคำวินิจฉัย แต่ศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51
พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ลักษณะ 2 หมวด 1 บัญญัติให้เรื่องการเป็นผู้ประกันตนอยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่และการควบคุมของสำนักงานประกันสังคมจำเลย และยังให้สิทธิว่าหากไม่พอใจคำสั่งของเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมหรือของพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมที่สั่งการตามกฎหมายฉบับนี้ ให้มีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำสั่งตามมาตรา 85 คณะกรรมการอุทธรณ์ที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 86 ก็เป็นคณะกรรมการของจำเลยโดยผู้แทนสำนักงานประกันสังคมเป็นกรรมการและเลขานุการเพื่อต้องการให้คณะกรรมการอุทธรณ์ได้ตรวจสอบคำสั่งของเลขาธิการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมอีกชั้นหนึ่ง ดังนั้นคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์จึงเป็นคำสั่งในหน่วยงานของจำเลย นอกจากนี้มาตรา 87 วรรคท้าย ยังได้บัญญัติรับรองสิทธิไว้อีกว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์นั้น ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่พอใจให้มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย ดังนี้ เมื่อจำเลยแจ้งยกเลิกการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ของโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ และคณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลยมีคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ของโจทก์ การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
การที่จะพิจารณาความสัมพันธ์ของบุคคลว่าเป็นนายจ้างและลูกจ้างกันหรือไม่ นอกจากจะพิจารณาว่าบุคคลทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์ดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 5 แล้ว ยังต้องปรากฏข้อเท็จจริงด้วยว่าบุคคลที่เป็นลูกจ้างอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาโดยต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบ และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบุคคลที่เป็นนายจ้าง ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ตามความเป็นจริงของความเป็นนายจ้างและลูกจ้างดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 583 ด้วย เมื่อโจทก์มีอิสระในการทำงาน ไม่ต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชา และไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับในการทำงานของบริษัท ต. ไม่ต้องลงเวลาทำงาน สามารถตัดสินใจในกิจการของบริษัทได้โดยลำพังไม่ต้องปรึกษาผู้ใด โดยโจทก์มีหน้าที่ขายสินค้าให้แก่ลูกค้าของบริษัท และงบดุลของบริษัท ไม่ปรากฏว่าบริษัทดังกล่าวมีรายได้จากการขายสินค้าแต่อย่างใด แสดงว่าลักษณะการทำงานของโจทก์นั้น โจทก์จะทำงานอย่างไรก็ได้ ไม่ว่าจะมีผลงานหรือไม่มีผลงาน ก็ไม่มีการให้คุณให้โทษแก่โจทก์ อันแสดงให้เห็นว่าการทำงานของโจทก์มิได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของบริษัท ต. ดังนั้น นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับบริษัท ต. จึงมิได้อยู่ในฐานะเป็นนายจ้างและลูกจ้างกัน อันจะทำให้โจทก์มีสิทธิเข้าเป็นผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 33 ได้