โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 7450จำเลยได้ปลูกสร้างบ้านลงบนที่ดินดังกล่าวของโจทก์บางส่วนเนื้อที่ประมาณ 51 ตารางวา เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายซึ่งโจทก์อาจให้บุคคลอื่นเช่าเดือนละประมาณ 380 บาท คิดค่าเสียหายถึงวันฟ้องเป็นเงิน 9,880 บาท ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนขนย้ายบ้านพร้อมทรัพย์สินต่าง ๆ และบริวารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 7450ตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี กับชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 9,880 บาท และค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 380 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ปลูกสร้างบ้านลงบนที่ดินแปลงหนึ่งเนื้อที่51 ตารางวา ซึ่งอยู่นอกโฉนดเลขที่ 7450 ที่ดินแปลงดังกล่าวให้เช่าได้ในราคาไม่เกินตารางวาละ 2 บาทต่อเดือน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนขนย้ายบ้านเลขที่ 9/9 และ9/10 ตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี พร้อมด้วยทรัพย์สินและบริวารดังกล่าวออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 7450 ตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ของโจทก์ กับให้ชำระค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 380 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนขนย้ายทรัพย์และบริวารออกจากที่ดินพิพาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "สำหรับปัญหาเกี่ยวกับเรื่องทุนทรัพย์ จำเลยฎีกาว่าเนื่องจากศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยเสียค่าขึ้นศาลในทุนทรัพย์ 620,000 บาทจำเลยจึงไม่ได้ขออนุญาตผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นเพื่อรับรองให้จำเลยอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้นั้น เห็นว่า ตอนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยในวันที่ 26 ธันวาคม 2540 ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งเช่นนั้น โดยศาลชั้นต้นสั่งแต่เพียงว่า "รับฟ้องอุทธรณ์สำเนาให้โจทก์แก้" ส่วนค่าขึ้นศาลเป็นเรื่องที่จำเลยได้ชำระต่อศาลเองโดยยึดถือคำสั่งศาลชั้นต้นในวันที่ 21 กรกฎาคม 2537ที่สั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทภายใน 7 วัน ต่อมาในวันที่ 8 กันยายน 2537 โจทก์จึงได้เสียค่าขึ้นศาลในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นโดยได้คำนวณทุนทรัพย์ของที่ดินพิพาทตารางวาละ 10,000 บาท รวมเป็นเงิน620,000 บาท ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจะชอบหรือไม่ประการใดควรที่คู่ความทุกฝ่ายรวมทั้งจำเลยพึงจะได้กลั่นกรองด้วย ซึ่งถือว่าบุคคลทุกคนต้องรู้กฎหมายและหากจำเลยเห็นว่าเป็นการไม่ถูกต้องก็ชอบที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นได้พิจารณามีคำสั่งในเรื่องนี้เสียใหม่หรือชอบที่จะโต้แย้งคัดค้านไว้เพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาในภายหลังได้ แต่หากจำเลยไม่ดำเนินการจนเกิดความผิดพลาดขึ้นดังกล่าว จำเลยจะกลับมาปฏิเสธเพื่อให้พ้นความรับผิดหาได้ไม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ข้อนี้ชอบแล้ว
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยต่อไปว่า การที่ศาลชั้นต้นรับฟังแผนที่เป็นพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้หลังจากเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรีได้จัดทำแผนที่พิพาทเสร็จเรียบร้อยแล้ว ในวันนัดพร้อมคู่ความ(ทั้งสองฝ่าย) แถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า แผนที่พิพาทของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรีฉบับดังกล่าวถูกต้องตรงกับความเป็นจริง ดังปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2537ศาลชั้นต้นจึงให้เลื่อนการนัดชี้สองสถานไปเป็นวันที่ 30 กันยายน 2537เวลา 9 นาฬิกา ครั้นถึงวันนัดชี้สองสถาน จำเลยแถลงคัดค้านเรื่องเนื้อที่ดินตามแผนที่พิพาทมากกว่าเนื้อที่ดินในโฉนด จึงขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจัดทำแผนที่พิพาทใหม่ แต่โจทก์ไม่ยินยอม ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งว่า เมื่อไม่สามารถรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำแผนที่พิพาทกลางดังกล่าวจึงให้ยกเลิกการทำแผนที่พิพาทกลางดังปรากฏตามคำสั่งของศาลชั้นต้นลงวันที่ 23 ธันวาคม 2537 ต่อมาโจทก์ได้อ้างนายวัฒนา วัลลดาทิตย์พนักงานที่ดินผู้จัดทำแผนที่พิพาทมาเป็นพยานต่อศาล เพื่อเบิกความยืนยันถึงรายละเอียดและวิธีการจัดทำแผนที่พิพาทดังกล่าวตลอดจนเจ้าของที่ดินข้างเคียงประมาณ 2 ถึง 3 ราย ได้มาระวังแนวเขตแล้วด้วยพร้อมกันนั้นทนายโจทก์ได้ส่งเอกสารเป็นพยานต่อศาล กรณีจึงเป็นที่เห็นได้ว่าแผนที่พิพาทซึ่งศาลชั้นต้นได้สั่งยกเลิกแล้ว หรือเพียงแต่สั่งยกเลิกการจัดทำแผนที่พิพาทกลางใหม่หรือไม่ก็ตามแต่โจทก์ก็เพียงอ้างเป็นพยานเอกสารฉบับหนึ่งเท่านั้น อันที่ศาลจะรับฟังหรือไม่ก็ได้แล้วแต่ดุลพินิจของศาลและการอ้างเอกสารเป็นพยานของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเอกสารที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือศาลต้องรับรองความถูกต้องเสียก่อนก็หาไม่ ฉะนั้นการที่จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจของศาลชั้นต้นในการรับฟังแผนที่พิพาทดังกล่าวไม่ว่าจะด้วยเหตุผลประการใดก็ถือเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ดังนั้น เมื่อคดีจำเลยต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงดังรายละเอียดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1ได้กล่าวไว้แล้ว แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะได้วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ให้โดยอาจเข้าใจว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ก็ย่อมเป็นการไม่ชอบตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 242(1) และถือว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ดังนี้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นจึงไม่อาจรับรองให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเรื่องนี้ได้อีกทั้งศาลฎีกาก็ไม่อาจพิจารณาฎีกาของจำเลยได้ด้วยเพราะเป็นฎีกาที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 อันเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน