ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การครอบครองเลื่อยโซ่ที่ถูกริบและนำออกขายทอดตลาดโดยมิชอบ แม้ผู้ซื้อจะสุจริต แต่เลื่อยโซ่ยังคงเป็นของต้องห้ามตามกฎหมายศุลกากร
การกระทำความผิดต่อ พ.ร.บ. ศุลกากร มาตรา 27 ทวิ เกี่ยวกับการช่วยรับเอาไว้ซึ่งของต้องห้ามหรือต้องจำกัดนี้ ของต้องห้ามดังกล่าวได้แก่ของซึ่งมีกฎหมายห้ามการนำเข้าหรือส่งออกไว้
ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 91) พ.ศ. 2521 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ฎ. ควบคุมการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2496 ได้กำหนดว่า เลื่อยโซ่พร้อมอุปกรณ์เป็นสินค้าต้องห้ามจะนำเข้าในราชอาณาจักรมิได้ หากเจ้าพนักงานยึดเลื่อยโซ่ได้จะต้องส่งเลื่อยโซ่ ดังกล่าวให้แก่เจ้าหน้าที่ศุลกากรที่อยู่ใกล้เคียงที่สุด จากนั้นกรมศุลกากรจะทำการทำลายเครื่องเลื่อยโซ่โดยไม่มีการ นำออกมาจากจำหน่าย ดังนั้น โดยสภาพของเลื่อยโซ่จึงไม่อาจนำเข้ามาในราชอาณาจักรได้เพราะต้องห้าม ตามกฎหมายดังกล่าว แม้ต่อมาจะได้มีการนำเลื่อยโซ่ดังกล่าวออกขายทอดตลาดอันเป็นการดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ใช้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ โดยดำเนินการขายตามความใน พ.ร.บ. ป่าไม้ มาตรา 64 ทวิ แต่เนื่องจากทรัพย์ของกลางเป็นของต้องห้ามตาม พ.ร.บ. ศุลกากรกรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 120 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร ที่บัญญัติว่า เมื่อใดบทบัญญัติใน พ.ร.บ. ศุลกากรแตกต่างกับบทกฎหมายอื่นก็ให้ยกบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ. ศุลกากรใช้บังคับ เมื่อศาลสั่งริบเลื่อยโซ่ของกลางอันเป็นของต้องห้าม จึงต้องมีการจัดการให้เป็นไปตามมาตรา 25 การที่ เจ้าหน้าที่ได้นำของต้องห้ามดังกล่าวมาขายทอดตลาดโดยขัดต่อบทกฎหมาย การขายทอดตลาดจึงหาทำให้เลื่อยโซ่ซึ่งเป็นของต้องห้าม กลับเป็นของชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใดไม่
แม้เลื่อยโซ่ของกลางเป็นของต้องห้าม แต่จำเลยผู้ครอบครองทรัพย์ที่ได้จากการที่มีผู้ซื้อทรัพย์มาจากการ ขายทอดตลาด โดยจำเลยรู้ว่าทรัพย์ของกลางดังกล่าวได้มาจากการทอดตลาดโดยเปิดเผยและจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ทำให้จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าเลื่อยโซ่ดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่ประชาชนครอบครองใช้สอยได้ และมิใช่ของต้องห้ามหรือของต้องจำกัด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ศุลกากร มาตรา 27 ทวิ