คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้(จำเลย) ไว้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2540 เจ้าหนี้ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 376/2529 จำนวนเงิน 1,412,585.90 บาทจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ รายละเอียดปรากฏตามบัญชีท้ายคำขอรับชำระหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เห็นว่า ควรยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามมาตรา 107(1) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483เนื่องจากเป็นหนี้ที่อยู่ในฐานะหมดสิทธิในการบังคับคดีแล้ว ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 94 และมาตรา 153 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 ประกอบมาตรา 271 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเจ้าหนี้จึงหมดสิทธิที่จะขอรับชำระหนี้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า "ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าหนี้ว่า หนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 376/2529นำมาขอรับชำระหนี้ได้หรือไม่ เห็นว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28พฤษภาคม 2529 ให้ลูกหนี้ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ สิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้มีต่อลูกหนี้จึงเกิดขึ้นโดยคำพิพากษาที่ถึงที่สุด มีกำหนดอายุความ10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 เจ้าหนี้นำเอาหนี้ตามคำพิพากษานี้มาฟ้องขอให้ลูกหนี้ล้มละลายเมื่อวันที่ 26ตุลาคม 2538 ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี เจ้าหนี้จึงมีสิทธิฟ้องได้ และมีผลเท่ากับเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้ชำระหนี้อย่างหนึ่งตามวิธีการที่พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ซึ่งทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(2) เมื่อเจ้าหนี้นำหนี้ตามคำพิพากษานี้มายื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2540 จึงเป็นการขอรับชำระหนี้ในขณะที่อายุความสะดุดหยุดลง ย่อมไม่ต้องห้ามมิให้ได้รับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(1)กรณีมิใช่เป็นการที่เจ้าหนี้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 376/2529 จะนำเอาระยะเวลาบังคับคดี 10 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 มาปรับใช้แก่กรณีนี้หาได้ไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของเจ้าหนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต้องพิจารณาต่อไปว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้สำหรับมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวเพียงใด เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าลูกหนี้เป็นหนี้ตามคำพิพากษาคิดถึงวันที่ 26 ตุลาคม 2538 วันฟ้องคดีล้มละลายนี้รวมเป็นเงิน 1,289,686.11 บาท โดยรายการคำนวณยอดหนี้ลูกหนี้เอกสารหมาย จ.7 แยกเป็นต้นเงิน 637,058.72 บาท และดอกเบี้ย 652,627.39 บาท และปรากฏว่าในระหว่างพิจารณาคดีล้มละลายนี้ ลูกหนี้นำเงินมาชำระอีก 90,000 บาท ต้องนำมาหักยอดดอกเบี้ยค้างชำระคงเหลือหนี้เป็นเงิน 1,199,686.11 บาท และเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีในต้นเงิน 637,058.72 บาท นับแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2538 จนถึงวันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด (วันที่ 29 กรกฎาคม 2540)
อนึ่ง คดีนี้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาในการอุทธรณ์หรือฎีกา ต้องเสียค่าขึ้นศาลอัตราเดียวกับค่ายื่นคำขอรับชำระหนี้ กล่าวคือ ให้คิดฉบับละ 25 บาท ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 179(2) ที่เจ้าหนี้เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกามาชั้นละ 200 บาท จึงเสียเกินมา 350 บาท"
พิพากษากลับ อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 376/2529ของศาลชั้นต้น เป็นเงิน 1,199,686.11 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีของต้นเงิน 637,058.72 บาท นับแต่วันที่ 27 ตุลาคม2538 ถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2540 คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาที่เสียเกินมา 350 บาท แก่เจ้าหนี้