โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 3,429,928 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,981,376 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 1,481,376 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ และค่าเสียหายเพื่อการลงโทษอีก 200,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เดิมโจทก์ทำสัญญากู้เงินจากจำเลย โดยมีนางสาวหรือนางเอมอร เป็นผู้ค้ำประกัน แล้วผิดนัดชำระหนี้ จำเลยจึงฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดธัญบุรี ขอให้บังคับโจทก์และนางเอมอรร่วมกันชำระหนี้ และคดีตกลงกันได้โดยโจทก์และนางเอมอรยินยอมชำระเงิน 1,574,802.06 บาท พร้อมดอกเบี้ย ด้วยการผ่อนชำระเป็นรายเดือน กับชำระค่าฤชาธรรมเนียมแก่จำเลย ศาลจังหวัดธัญบุรีได้มีคำพิพากษาตามยอมเป็นคดีหมายเลขแดงที่ ผบ.396/2556 แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา จำเลยจึงดำเนินการบังคับคดีด้วยการนำเจ้าพนักงานบังคับคดีสำนักงานบังคับคดีจังหวัดน่านยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 6436 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ของโจทก์ออกขายทอดตลาด โดยประเมินราคาเป็นเงิน 948,552 บาท และได้ประกาศขายทอดตลาดนัดแรกในวันที่ 29 มิถุนายน 2560 ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ยึดไว้มีภาระจำนองธนาคาร อ. ณ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2560 เป็นเงิน 307,132.46 บาท ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีจะทำการขายโดยจำนองติดไป เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2560 อันเป็นเวลาก่อนประกาศขายทอดตลาดนัดแรก โจทก์และจำเลยได้ตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามคำพิพากษาคดีดังกล่าว โดยตกลงกันให้โจทก์ชำระค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ค่าเบี้ยประกันภัยค้างจ่าย และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แก่จำเลยในวันที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แล้วผ่อนชำระหนี้ตามคำพิพากษาต่อไป ซึ่งโจทก์ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงนี้เรื่อยมา ส่วนการบังคับคดีตามคำพิพากษาคดีดังกล่าวนั้น เนื่องจากจำเลยไม่ได้แจ้งเป็นหนังสือไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าขอให้งดการบังคับคดีไว้ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ไปตามนัด และนางลัดดาวัลย์ เป็นผู้ซื้อได้ในราคา 650,000 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาประการแรกว่า จำเลยทำละเมิดและต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์และจำเลยทำบันทึกข้อตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อผ่อนปรนการชำระหนี้กันเป็นไปเพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ โจทก์ได้รับการผ่อนเวลาชำระหนี้ออกไปโดยไม่ต้องชำระครบทั้งจำนวนในคราวเดียว และไม่ต้องกังวลว่าจำเลยจะดำเนินการบังคับคดีแก่ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ระหว่างที่โจทก์ปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น ส่วนจำเลยก็มีทางได้รับชำระหนี้โดยไม่จำต้องดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของโจทก์ให้ยุ่งยาก แสดงให้เห็นว่าโจทก์ประสงค์ให้จำเลยงดการบังคับคดีแก่โจทก์ไว้ก่อนนั่นเอง ดังจะเห็นได้จากข้อความในสำเนาบันทึกข้อตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ว่าโจทก์ได้ขอให้จำเลยชะลอการบังคับคดีไว้ และหากโจทก์ผิดนัดชำระหนี้และเงื่อนไขในข้อตกลงนี้ก็ยินยอมให้จำเลยบังคับคดีตามคำพิพากษาต่อไปได้ทันที ซึ่งนอกจากจำเลยจะยินยอมตามข้อเสนอของโจทก์ด้วยการทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวแล้ว ยังได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ประกอบสำเนาหนังสือว่า เจ้าหน้าที่ประจำสาขาองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (จตุจักร) ได้แจ้งผลการตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยให้ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารสำนักงานเขตจตุจักร สำนักงานเขตจตุจักรทราบ กับขอให้งดการขายทอดตลาดทรัพย์ของโจทก์ด้วย ซึ่งในข้อนี้นายอภิชาติ พนักงานของจำเลย ประจำสำนักงานเขตจตุจักร ก็เบิกความรับว่า เป็นหนังสือที่ออกโดยนางบังอร ผู้จัดการอาวุโสประจำสาขาองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (จตุจักร) ของจำเลยจริง ดังนั้น จำเลยจึงต้องดำเนินการงดการบังคับคดีแก่ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ให้เป็นไปตามข้อตกลงในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ครั้งนี้ และการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะงดการบังคับคดีสำหรับกรณีที่พิพาทนี้ได้ ย่อมต้องบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 (3) กล่าวคือ จำเลยต้องแจ้งเป็นหนังสือไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าให้งดการขายทอดตลาดทรัพย์ของโจทก์ไว้ โดยได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากโจทก์ ซึ่งได้ความจากคำเบิกความของนายอภิชาติว่า โจทก์ได้ทำหนังสือยินยอมให้งดการขายทอดตลาดมอบไว้แก่พนักงานของจำเลยแล้ว การที่จำเลยไม่ได้ดำเนินการดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจนเป็นเหตุให้มีการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ไปเช่นนี้ เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อและทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการทำละเมิดและต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ส่วนโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีจะไปดูแลการขายทอดตลาดหรือไม่นั้น เป็นสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 (1) การที่โจทก์ไม่ไปดูแลการขายทอดตลาดหาได้เป็นผลโดยตรงต่อความเสียหาย หรือจะถือว่าโจทก์มีส่วนในการก่อให้เกิดความเสียหาย อันจะทำให้จำเลยพ้นความรับผิดดังที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหานี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์และจำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาประการต่อไปว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด ซึ่งเห็นสมควรวินิจฉัยรวมกันไป โดยโจทก์ฎีกาว่า ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์มีราคา 2,429,928 บาท และจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามราคาที่แท้จริง กับค่าเสียหายอื่นแก่โจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองนำราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีมาคิดหักก่อน และไม่กำหนดค่าเสียหายอื่นแก่โจทก์จึงไม่ชอบ ส่วนจำเลยฎีกาว่า ค่าเสียหายต้องคิดจากราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีหักด้วยราคาที่ขายทอดตลาดและภาระจำนอง ค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์กำหนดจึงสูงเกินไป นั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการทำละเมิดของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ต้องสูญเสียที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยต้องถูกขายทอดตลาดไป จำเลยจึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว รวมทั้งความเสียหายอื่นๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคสอง ซึ่งสำหรับราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างนั้น โจทก์เบิกความว่า มีราคา 2,429,928 บาท โดยมีสำเนาแบบสำรวจและรายงานประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ที่จัดทำโดยบริษัท พ. เป็นพยานสนับสนุน โดยที่ผู้จัดทำแบบสำรวจและรายงานดังกล่าวเป็นผู้ประกอบวิชาชีพด้านนี้โดยตรง การจัดทำก็มีรายละเอียดของที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ไม่ว่าจะเป็นสภาพและทำเลที่ตั้ง ซึ่งมีน้ำหนักน่าเชื่อถือดังที่ศาลชั้นต้นให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยส่วนนี้ไว้โดยละเอียดแล้ว ประกอบกับเป็นการสำรวจเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2559 และมีเหตุให้เชื่อได้ว่าจัดทำเพื่อประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อของธนาคาร ก. ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุพิพาทคดีนี้กว่า 1 ปี ไม่ใช่การจัดทำขึ้นเพื่อจะใช้อ้างอิงให้เป็นปฏิปักษ์ต่อจำเลย โดยจำเลยเองก็ไม่ได้นำสืบหักล้างให้เห็นว่าการจัดทำไม่ถูกต้องและไม่เป็นไปตามหลักวิชาการอย่างไร จึงเชื่อว่าขณะทำการสำรวจที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมีราคาตามที่โจทก์นำสืบ โดยแยกเป็นราคาที่ดิน 876,060 บาท และสิ่งปลูกสร้าง 1,553,868 บาท แต่สำเนาแบบสำรวจและรายงานประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ในส่วนมูลค่าประเมินสิ่งปลูกสร้างได้มีการคิดปรับค่าเสื่อมราคารายปีจากราคาค่าก่อสร้างของสิ่งปลูกสร้างแต่ละรายการนับแต่ก่อสร้างเป็นเวลา 8 ปี กล่าวคือ ค่าเสื่อมราคาของอาคารบ้านร้อยละ 4 ต่อปี จากราคา 2,205,000 บาท เป็นเงิน 705,600 บาท คงเหลือราคา 1,499,400 บาท ค่าเสื่อมราคาของส่วนต่อเติมด้านข้างร้อยละ 4 ต่อปี จากราคา 35,100 บาท เป็นเงิน 11,232 บาท คงเหลือราคา 23,868 บาท และค่าเสื่อมราคาของรั้ว คสล.ร้อยละ 3 ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี จากราคา 36,000 บาท เป็นเงิน 5,400 บาท คงเหลือราคา 30,600 บาท การกำหนดค่าสินไหมทดแทนในส่วนสิ่งปลูกสร้างจึงต้องปรับค่าเสื่อมราคาตามรายการและอัตราเดียวกันนี้นับแต่วันทำการสำรวจต่อมาจนถึงวันทำละเมิดด้วย ซึ่งเห็นสมควรกำหนดให้ 1 ปี คำนวณแล้วเป็นค่าเสื่อมราคาของอาคารบ้าน 88,200 บาท ค่าเสื่อมราคาของส่วนต่อเติมด้านข้าง 1,404 บาท และค่าเสื่อมราคาของรั้ว คสล. 1,080 บาท รวมเป็นเงิน 90,684 บาท เมื่อนำมาคิดหักจากราคาสิ่งปลูกสร้างขณะทำการสำรวจแล้วเป็นเงิน 1,463,184 บาท ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจึงมีราคาเพียง 2,339,244 บาท อย่างไรก็ตาม การกำหนดค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ย่อมต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่โจทก์ได้รับจากการที่ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างถูกขายทอดตลาดประกอบด้วย เมื่อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์มีภาระจำนองธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นเงิน 307,132.46 บาท และถูกขายทอดตลาดโดยจำนองติดไปย่อมเป็นผลให้โจทก์หลุดพ้นภาระหนี้ไปตามจำนวนดังกล่าว และต้องนำมาคิดหักจากราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในวันทำละเมิด แต่ที่ศาลล่างทั้งสองนำราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีมาคิดหักจากราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างด้วยเห็นว่าเป็นราคาขายทอดตลาดรวมกับภาระจำนองนั้น มีผลเป็นการนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไปหักชำระหนี้แก่จำเลย อันเป็นการรับรองให้จำเลยได้ประโยชน์จากการบังคับชำระหนี้ที่ไม่ชอบของจำเลยอยู่ในตัว ซึ่งขัดต่อเจตนาของโจทก์และเป็นการไม่ถูกต้อง จึงกำหนดค่าสินไหมทดแทนสำหรับราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เป็นเงิน 2,032,111.54 บาท ส่วนค่าเสียหายอื่น ๆ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยให้นั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเสียก่อน และเห็นว่า การที่ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ถูกขายทอดตลาดไปอันเนื่องมาจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยเช่นนี้ ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยต้องขาดประโยชน์ใช้สอย กับประโยชน์จากมูลค่าของที่ดินที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งแม้โจทก์จะไม่ได้นำสืบให้ได้ความแน่ชัดถึงค่าเสียหายส่วนนี้ ศาลก็มีอำนาจกำหนดให้ตามควรแก่พฤติการณ์ โดยเมื่อพิจารณาถึงความร้ายแรงแห่งการละเมิดของจำเลย ประกอบทางได้เสียของโจทก์แล้ว เห็นสมควรกำหนดให้เป็นเงิน 800,000 บาท รวมเป็นค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสิ้น 2,832,111.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไป ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหานี้มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน แต่ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์และจำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาประการต่อไปว่า จำเลยต้องรับผิดในค่าเสียหายเพื่อการลงโทษหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ศาลจะมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 42 ได้นั้น ต้องเป็นกรณีการกระทำที่ถูกฟ้องร้องเกิดจากผู้ประกอบธุรกิจกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภคหรือกระทำการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ซึ่งการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจที่ว่านี้หมายถึง การกระทำเกี่ยวกับสินค้าที่ขายหรือผลิต หรือการให้บริการ ที่ก่อให้เกิดผลหรือมีลักษณะตามบทบัญญัติดังกล่าว และมีการฟ้องร้องเป็นคดีกันด้วยข้อพิพาทที่เกิดจากสินค้าที่ขายหรือผลิต หรือการให้บริการ อันเป็นการประกอบกิจการของผู้ประกอบธุรกิจนั้นเอง แต่การกระทำที่จำเลยถูกโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้เกิดจากการทำละเมิดของจำเลยที่ไม่ได้ดำเนินการเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการบังคับคดีเกี่ยวกับที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ที่ยึดไว้ตามที่โจทก์กับจำเลยตกลงกัน เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไป ไม่ใช่ความเสียหายโดยตรงที่เกิดจากตัวสินค้าและบริการที่ศาลจะมีอำนาจสั่งให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นกล่าวอ้างเป็นประเด็นโดยตรง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่า ต้องกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพียงใด อีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยรับผิดในค่าเสียหายเพื่อการลงโทษแก่โจทก์ด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
ปัญหาที่โจทก์ฎีกาประการสุดท้ายว่า สมควรกำหนดให้จำเลยรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมศาลหรือไม่ นั้น แม้ศาลฎีกาจะไม่ได้มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ฎีกาไว้ชัดเจน แต่เป็นกรณีศาลฎีกาต้องมีคำวินิจฉัยเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นพิพากษาอยู่แล้ว ตามประมวกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141 (5), 167 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 และเห็นว่า คดีนี้มีมูลจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยโดยแท้ ย่อมเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จำเลยในฐานะผู้ประกอบธุรกิจอันเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนจะต้องหาทางเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยและได้ความว่ายังรับผิดชอบในการปฏิบัติตามข้อตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต่อจำเลยอยู่ การที่จำเลยให้การต่อสู้คดีเพื่อปฏิเสธความรับผิดตลอดมานอกจากเป็นการขาดความรับผิดชอบอย่างยิ่งแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความไม่สุจริตของจำเลยในการดำเนินคดีได้ประการหนึ่ง เมื่อพิจารณาประกอบระยะเวลาในการดำเนินคดีแล้ว เห็นสมควรให้จำเลยรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ กับชดใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีทั้งสามศาลแก่โจทก์ด้วย และโจทก์เป็นผู้บริโภคได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง โจทก์วางเงินค่าส่งคำคู่ความในชั้นฎีกามา จึงให้คืนแก่โจทก์
อนึ่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 เป็นผลให้ปรับลดดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 จากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เหลือเพียงอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี รวมเป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี และหากมีการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 7 ในภายหลังก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี จึงต้องบังคับให้เป็นไปตามบทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 2,832,111.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2560 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยตามที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนในภายหลัง บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 100,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีรวม 30,000 บาท สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่โจทก์ได้รับยกเว้นนั้น ให้จำเลยชำระต่อศาลในนามของโจทก์ คืนค่าส่งคำคู่ความชั้นฎีกาแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก