โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 2,585,477.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 2,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,000,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการสวนสัตว์สาธารณะ มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อแรกว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระเงินกู้ให้แก่โจทก์หรือไม่ โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นสามีภริยากัน ส่วนโจทก์เป็นเพื่อนกับจำเลยที่ 3 เมื่อประมาณปี 2556 กิจการของจำเลยที่ 1 ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงชักชวนให้โจทก์ร่วมลงทุนในลักษณะซื้อหุ้นกู้ของจำเลยที่ 1 กำหนดระยะเวลาไถ่ถอน 2 ปี โดยเสนอเงินปันผลในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน โจทก์ตกลงร่วมลงทุนตามคำชักชวน วันที่ 24 เมษายน 2556 โจทก์โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 1 จำนวน 2,000,000 บาท และจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ออกใบหุ้นกู้ตามจำนวนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ โดยโจทก์มีสำเนาชุดฝากเงินสดพร้อมใบเสร็จรับเงิน และสำเนาบันทึกรายการโอนเงิน ซึ่งปรากฏข้อความว่ามีการโอนเงินดังกล่าวเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 และมีสำเนาใบหุ้นกู้เอกสาร ซึ่งปรากฏข้อความอันเป็นสาระสำคัญระบุว่า เป็นหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือของจำเลยที่ 1 ครบกำหนดไถ่ถอน 2 ปี โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นกู้ วันที่ออกหุ้นกู้ 25 เมษายน 2556 มูลค่าหุ้น 2,000,000 บาท รับประกันเงินปันผล ส่วนแบ่งรายได้จากการประกอบการคงที่ในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ชำระทุกวันที่ 25 ของทุกเดือน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 25 มิถุนายน 2556 มีชื่อพร้อมลายมือชื่อโจทก์ที่ระบุว่าเป็นผู้ถือหุ้น กับลายมือชื่อที่ระบุว่าเป็นลายมือชื่อจำเลยที่ 2 พร้อมประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 เป็นพยานหลักฐานสนับสนุนสอดคล้องตรงกับคำเบิกความของโจทก์ ส่วนที่จำเลยที่ 1 นำสืบอ้างว่าไม่ได้รับเงินจากโจทก์ และจำเลยที่ 2 ไม่ได้ลงลายมือชื่อในใบหุ้นกู้นั้น จำเลยที่ 1 มีนายวิฑูรย์ ทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นพยานเพียงปากเดียวเบิกความว่า พยานสอบถามจำเลยที่ 2 แล้ว ได้ความว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ลงลายมือชื่อในใบหุ้นกู้ดังกล่าว โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้มาเบิกความเป็นพยานหักล้างข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบ ทั้งพยานเองก็ไม่ทราบด้วยว่าจำเลยที่ 1 ยังใช้บัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์กล่าวอ้างอยู่หรือไม่ มิได้นำสืบปฏิเสธว่า บัญชีเงินฝากที่โจทก์โอนเงินให้นั้นไม่ใช่บัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 คำเบิกความของนายวิฑูรย์จึงเป็นเพียงคำเบิกความลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง นอกจากนี้ ยังได้ความจากคำเบิกความของโจทก์โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้นำสืบพยานหักล้างเป็นอย่างอื่นว่า จำเลยที่ 1 โอนเงินปันผลตามข้อตกลงให้โจทก์ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2556 จนถึงเดือนธันวาคม 2557 อันแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ยอมตนเข้าผูกพันตามข้อตกลงที่มีต่อโจทก์ตลอดมา ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ศาลไม่อาจรับฟังสำเนาใบหุ้นกู้ เป็นพยานหลักฐาน เนื่องจากโจทก์ไม่ได้ส่งสำเนาให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนวันสืบพยาน อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 นั้น เห็นว่า โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานอ้างสำเนาใบหุ้นกู้เป็นพยานหลักฐาน และขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกต้นฉบับใบหุ้นกู้จากจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองเอกสาร ทั้งในชั้นพิจารณาโจทก์ก็เบิกความยืนยันว่า โจทก์ได้รับเพียงสำเนาใบหุ้นกู้จากจำเลยที่ 1 โดยมีนายวุฒินันท์ เป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า พยานเป็นเพื่อนกับโจทก์และจำเลยที่ 3 และพยานได้ร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 ในทำนองเดียวกันนี้ด้วย โจทก์ฝากให้พยานรับใบหุ้นกู้แทน แต่จำเลยที่ 3 เพียงถ่ายสำเนาใบหุ้นกู้ทั้งของโจทก์และของพยานให้เท่านั้น ตามพฤติการณ์น่าเชื่อว่า ต้นฉบับใบหุ้นกู้อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 อันเป็นข้อยกเว้นที่โจทก์ไม่ต้องส่งสำเนาให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนวันสืบพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 วรรคสาม (2) การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 รับฟังสำเนาใบหุ้นกู้ เป็นพยานหลักฐาน จึงมิใช่เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างมาในฎีกา อย่างไรก็ดี จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด การออกหุ้นกู้ต้องอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1229 และพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 33, มาตรา 34 และมาตรา 65 กล่าวคือ ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยจะเสนอขายหุ้นกู้ได้ต่อเมื่อได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหุ้นกู้และร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และแบบเสนอรายการข้อมูลการเสนอขายและร่างหนังสือชี้ชวนดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว การฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวเป็นความผิดและต้องรับโทษตามมาตรา 268 แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามบทกฎหมายดังกล่าว อันเป็นเหตุให้หุ้นกู้ที่ออกโดยจำเลยที่ 1 เป็นการไม่ชอบและไม่อาจใช้บังคับในฐานะเป็นหุ้นกู้ตามกฎหมายได้ก็ตาม แต่ข้อความตามที่ระบุใน มีสาระสำคัญว่า จำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปจากโจทก์ 2,000,000 บาท และจะชำระคืนภายในวันที่ 25 เมษายน 2558 อันถือได้ว่ามีข้อความครบถ้วนเพียงพอให้รับฟังได้ว่า เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ซึ่งไม่อยู่ในบังคับที่ต้องปิดอากรแสตมป์ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ศาลย่อมรับฟังสำเนาใบหุ้นกู้ เป็นพยานหลักฐานได้ ทั้งไม่เป็นกรณีโจทก์นำสืบพยานบุคคลเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารอันเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคหนึ่ง (ข) พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ที่มีเพียงคำเบิกความลอย ๆ ของนายวิฑูรย์ซึ่งไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องโดยตรงในการบริหารกิจการของจำเลยที่ 1 มีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ 2,000,000 บาท และตกลงจะชำระคืนในวันที่ 25 เมษายน 2558 เมื่อครบกำหนดตามสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด เห็นว่า จำเลยที่ 1 ออกหุ้นกู้โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย โจทก์จึงไม่อาจอ้างสำเนาใบหุ้นกู้ มาบังคับในฐานะเป็นหุ้นกู้ได้ คงรับฟังเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินได้เท่านั้น แต่ข้อตกลงในการออกหุ้นกู้ที่ว่า จำเลยที่ 1 ตกลงจะให้ประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินปันผลในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน มีลักษณะเป็นข้อตกลงให้ดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 และพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 ที่ใช้บังคับในขณะนั้น จึงตกเป็นโมฆะ โจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันครบกำหนดชำระหนี้เป็นต้นไป ไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 1 รับผิดในผลตอบแทนอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ตามข้อตกลงได้ ส่วนที่ได้ความจากโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ได้จ่ายเงินปันผลตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2556 ถึงเดือนธันวาคม 2557 รวม 19 เดือน เป็นเงิน 760,000 บาท แก่โจทก์แล้วนั้น เห็นว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ประสงค์จะก่อนิติสัมพันธ์กันในฐานะผู้ถือหุ้นกู้และผู้ออกหุ้นกู้ ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามบทกฎหมายในเรื่องการออกหุ้นกู้อันเป็นความรับผิดชอบและอยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 1 เพียงฝ่ายเดียว และไม่ปรากฏว่าโจทก์ซึ่งลงทุนในฐานะผู้ถือหุ้นกู้กระทำโดยไม่สุจริต แม้ผลตอบแทนที่จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์จะถือเป็นดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดและตกเป็นโมฆะก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดผลตอบแทนเองถือว่าจำเลยที่ 1 กระทำการตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจเรียกร้องคืนด้วยการนำมาคิดหักกลบกับต้นเงินกู้ยืมที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์ได้ ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระเงิน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2558 เป็นต้นไป โดยไม่ต้องรับผิดในเงินผลประโยชน์ตอบแทนอีก 200,000 บาท แก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน ฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 1 ไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา
อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ประกาศใช้บังคับ โดยมาตรา 3 มาตรา 4 และมาตรา 7 ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเป็นผลให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกำหนดนี้มีผลใช้บังคับ ได้เพียงอัตราร้อยละ 5 ต่อปี เว้นแต่โจทก์อาจเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ทั้งให้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนี้ได้ตามที่กระทรวงการคลังกำหนดโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์มีเหตุอื่นอันชอบด้วยกฎหมายในอันที่จะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราสูงกว่านี้ จึงต้องกำหนดให้เป็นไปตามบทกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2558 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ ดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ให้ปรับเปลี่ยนตามอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนดในภายหลัง แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์มีคำขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 10,000 บาท แทนโจทก์