โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 ให้จำคุก 5 ปี
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยรับราชการในองค์การบริหารส่วนจังหวัด ดำรงตำแหน่งนายช่างโยธา 4 จำเลยจึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4 และจำเลยได้รับแต่งตั้งตามคำสั่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ 177/2544 เรื่องแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รับผิดชอบดูแลการเปิดเผยแพร่ข่าวสารการประกวดราคาลงวันที่ 8 สิงหาคม 2544 และจำเลยเป็นผู้นำส่งประกาศประกวดราคาการจ้างเหมาทำการลาดยางทางหลวงหมายเลข 2317 ตอนหนองกี่ - บ้านทุ่งจังหัน ตามประกาศประกวดราคาองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ เลขที่ 9/2544 ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2544 และการจ้างเหมาทำการลาดยางทางหลวงหมายเลข 2120 ตอนละหานทราย - บรรจบทางหลวงหมายเลข 348 ตามประกาศประกวดราคาขององค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ เลขที่ 10/2544 ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2544 และตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 ข้อ 38 จำเลยจะต้องนำส่งประกาศประกวดราคาทั้งสองฉบับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดบุรีรัมย์ กรมประชาสัมพันธ์ องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ศูนย์รวมข่าวประกาศประกวดราคาจังหวัดบุรีรัมย์และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 4 จังหวัดนครราชสีมาเพื่อประกาศให้เป็นที่รู้กันทั่วไป และตามระเบียบจำเลยจะต้องนำส่งประกาศประกวดราคาทั้งสองฉบับ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดบุรีรัมย์ กรมประชาสัมพันธ์ องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ศูนย์รวมข่าวประกาศประกวดราคาจังหวัดบุรีรัมย์และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 4 จังหวัดนครราชสีมาเพื่อประกาศให้เป็นที่รู้กันทั่วไป เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2554 เวลากลางวันจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่นำซองประกวดราคา 5 ซอง เลขที่ 9/2544 และเลขที่ 10/2544 พร้อมใบรับฝากไปรษณีย์ในประเทศที่กรอกชื่อและที่อยู่ผู้รับไว้แล้ว 5 ฉบับ และใบนำส่งประกาศประกวดราคาทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษ โดยชำระค่าฝากส่งแบบรายเดือนที่กรอกชื่อผู้รับไว้แล้วพร้อมสำเนาที่ได้รับจากนางวันเพ็ญ ผู้บันทึกทะเบียนประกาศประกวดราคาเพื่อนำส่งหน่วยงานดังกล่าวข้างต้นและวันเดียวกันจำเลยนำใบรับฝากไปรษณีย์ในประเทศจำนวน 5 ฉบับ สำเนาใบนำส่งประกาศประกวดราคาทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษ 1 ฉบับ ไปมอบให้นางสาวสุจินดา หัวหน้าฝ่ายพัสดุและทะเบียนทรัพย์องค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์เพื่อเก็บรักษาไว้เป็นหลักฐาน โดยจำเลยลงลายมือชื่อในบันทึกข้อความฝ่ายพัสดุและทะเบียนทรัพย์เพื่อรายงานนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ทราบ
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยได้ส่งประกาศประกวดราคาทั้งห้าฉบับ ให้กับหน่วยงานตามระเบียบ โดยนำไปส่งที่ทำการไปรษณีย์บุรีรัมย์หรือไม่ เห็นว่า นายเจษฎาพงษ์ พยานโจทก์เบิกความว่าในวันเกิดเหตุพยานเป็นพนักงานรับฝากประจำช่อง 4 ของที่ทำการไปรษณีย์บุรีรัมย์ ไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์มาส่งเอกสารไปยังหน่วยงานหรือบริษัทห้างร้านโดยชำระค่าฝากส่งเป็นเงินสดแต่อย่างใด และตามเอกสารหลักฐานใบนำส่งประกาศประกวดราคาทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษ โดยชำระค่าฝากส่งเป็นรายเดือนที่จำเลยอ้างว่าเป็นผู้นำมาส่งโดยมีลายมือชื่อของนายเจษฎา เป็นพนักงานรับฝากและประทับตราประจำวันหมายเลข 4 ก็ไม่มีพนักงานของไปรษณีย์ที่ชื่อนายเจษฎา แต่อย่างใด และตราประทับประจำวันหมายเลข 4 อยู่ที่พยานเพียงคนเดียวและจัดเก็บไว้ในลิ้นชักโดยใส่กุญแจไว้ด้วย ทั้งตราประจำวันหมายเลข 4 ที่ปรากฏในเอกสารใบนำส่งประกาศประกวดราคาก็ไม่ใช่ตราที่พยานใช้ ทั้งใบนำส่งประกาศประกวดราคาดังกล่าวไม่ได้กรอกยอดรวมยกมาจากครั้งก่อน ยอดรวมค่าฝากส่งครั้งนี้ ยอดรวมยกไป แต่ถ้าเป็นการส่งประกาศประกวดราคาโดยชำระค่าฝากส่งเป็นเงินสดจะไม่มีการกรอกเอกสารหลักฐานใบนำส่งประกาศประกวดราคาทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษเพราะชำระค่าฝากส่งเป็นรายเดือน และเอกสารที่จำเลยอ้างก็แตกต่างจากสำเนาใบนำส่งประกาศประกวดราคาทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษตามรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงหน้า 111 สำเนาใบรับฝากหน้า 112 ซึ่งเป็นตัวอย่างใบนำส่งและใบรับฝากที่แท้จริง ส่วนเอกสารที่จำเลยอ้างเป็นเอกสารปลอม ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของนายรังสรรค์ หัวหน้าแผนกรับฝากที่ทำการไปรษณีย์บุรีรัมย์ ขณะเกิดเหตุทั้งอัตราค่าบริการสำหรับการส่งเอกสารดังกล่าวที่จำเลยอ้างระบุค่าบริการ 25 บาท ซึ่งไม่ถูกต้องเนื่องจากค่าบริการในการส่งไปรษณีย์ด่วนพิเศษเริ่มต้นที่ 27 บาท และจากผลการตรวจพิสูจน์เอกสาร ใบรับฝากบริการไปรษณีย์ในประเทศ ป. 211 เลขที่ 2095 ถึง 2097 ซึ่งเป็นใบรับฝากส่วนหนึ่งที่จำเลยนำไปมอบให้หัวหน้าฝ่ายพัสดุและทะเบียนทรัพย์องค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ได้ส่งไปตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบกับเอกสารตัวอย่างใบรับฝากบริการไปรษณีย์ในประเทศ ป. 211 เลขที่ 2704, 2705 และ 2708 รอยตราประทับตรงช่องตราประจำวันของที่ทำการรับฝากในใบตอบรับในประเทศ ป. 133 เลขที่สิ่งของ 2704, 2705 และ 2708 และรอยตราประทับตราประจำวันหมายเลข 4 ของที่ทำการไปรษณีย์บุรีรัมย์ที่ประทับในแผ่นกระดาษ ปรากฏว่าตราประทับในเอกสารตัวอย่างมีลักษณะของตัวอักษรและตัวเลขตลอดจนลักษณะตำหนิพิเศษแตกต่างกันจึงลงความเห็นว่าไม่ใช่รอยตราที่เกิดจากตราประทับอันเดียวกัน ทั้งนายเสมอ เลขานุการกรมกรมประชาสัมพันธ์ นางบุญเสริม เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงานสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดบุรีรัมย์และนายสุทธิพงศ์ ผู้ตรวจเงินแผ่นดินซึ่งรับราชการที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 4 จังหวัดนครราชสีมา เบิกความสอดคล้องต้องกันว่าทางหน่วยงานไม่ได้รับหนังสือจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ บร 51004/ ว 1231 ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2544 และหนังสือที่ บร 51004/ ว 1229 ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2544 ซึ่งนำส่งประกาศประกวดราคาครั้งที่ 9/2544 และที่ 10/2544 ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2544 ส่วนที่จำเลยนำสืบว่าได้นำไปส่งที่ทำการไปรษณีย์บุรีรัมย์ โดยมีนายสุปัญญา นายธำมรงค์ และนายภาดล เพื่อนร่วมงานซึ่งจำเลยไปรับที่โรงแรมวังทอง และชวนเพื่อนทั้งสามคนไปส่งเอกสารด้วยกันนั้น พยานจำเลยไม่ปรากฏว่าได้เห็นจำเลยส่งเอกสารที่ทำการไปรษณีย์บุรีรัมย์เพราะพยานทั้งสามคนรออยู่ด้านนอก แม้จำเลยอ้างว่ามีหลักฐานการนำส่งมาให้คนทั้งสามดู แต่การส่งเอกสารให้กับหน่วยงานทั้งสามแห่งดังกล่าวข้างต้นผลปรากฏการตรวจพิสูจน์ว่าเป็นเอกสารปลอม พยานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักให้น่าเชื่อถือได้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยไม่ได้จัดส่งเอกสารตามระเบียบให้กับหน่วยงานครบทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะกรมประชาสัมพันธ์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดบุรีรัมย์ และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 4 จังหวัดนครราชสีมา ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาโดยละเอียดแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 หรือไม่ เห็นว่า ความผิดตามมาตรา 12 บัญญัติว่า "เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐผู้ใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรมเพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐมีความผิดฐานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่" จากบทบัญญัติดังกล่าวเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำการใด ๆ ต้องมีเจตนามุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมและเพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ แต่การกระทำของจำเลยจากทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำการเพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดโดยเฉพาะที่เข้าเสนอราคาด้วยให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐคงเป็นแต่เพียงอาจทำให้ผู้เข้าเสนอราคามีจำนวนลดน้อยลงเพราะมิได้มีการส่งเอกสารการประกวดราคาไปประกาศที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดบุรีรัมย์เท่านั้น การกระทำของจำเลยอาจเป็นความผิดทางวินัยเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 12 และที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง