โจทก์ฟ้องขอให้สั่งให้ยกเลิกการขายทอดตลาดที่นายเนติเป็นผู้ซื้อได้ในวันที่ 18 มิถุนายน 2535
ศาลชั้นต้นเห็นว่า การขายทอดตลาดครั้งนี้ไม่ชอบมีคำสั่งให้ยกเลิกการขาย
ผู้ซื้อทรัพย์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 1 แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งใหม่
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกเลิกการขายทอดตลาดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายใหม่
ผู้ซื้อทรัพย์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมทุกชั้นศาลให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2534 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการยึดที่ดินพิพาทเพื่อบังคับตามคำพิพากษาโดยประเมินราคาที่ดินพิพาทขณะยึด 404,000 บาท แต่เจ้าพนักงานที่ดินได้ประเมินราคาไว้ 808,000 บาท และได้ประกาศขายทอดตลาดในวันที่ 18 มิถุนายน 2535 ผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ให้ราคาสูงสุดเป็นเงิน 430,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีอนุญาตให้ขายแก่ผู้ซื้อทรัพย์
ปัญหาต้องวินิจฉัยมีว่า การขายทอดตลาดที่ดินพิพาทชอบหรือไม่ เห็นว่า แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะประเมินราคาที่ดินพิพาทขณะยึดเพียง 404,000 บาท และผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ให้ราคาสูงสุด 430,000 บาท ก็ตาม แต่ก่อนมีการขายทอดตลาดเจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีหนังสือสอบถามราคาที่ดินพิพาทไปยังเจ้าพนักงานที่ดิน ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินได้มีหนังสือตอบมาว่า ที่ดินพิพาทราคา 808,000 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินและสูงกว่าราคาที่ผู้ซื้อทรัพย์ประมูลเกือบเท่าตัว ประกอบกับการขายทอดตลาดครั้งนี้เป็นการขายครั้งแรก และจำเลยที่ 1 ไม่ได้มาระวังการขายเนื่องจากไม่ทราบวันขายทอดตลาดที่ดินพิพาทดังที่วินิจฉัยข้างต้น ทั้งค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ในขณะนั้นเพียง 100,000 บาทเศษเท่านั้น พฤติการณ์ในการขายทอดตลาดดังกล่าวมีลักษณะเป็นการรวบรัดและกดราคาจึงเป็นการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทที่ไม่ชอบ
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการขาย ค่าฤชาธรรมเนียมทุกชั้นศาลให้เป็นพับ.