โจทก์ฟ้องใจความว่า จำเลยกระทำผิดกฎหมายหลายบทหลายกระทงต่างกรรมต่างวาระกัน กล่าวคือ จำเลยออกเช็คของธนาคารกสิกรไทย จำกัด สั่งจ่ายเงิน ๑๒,๐๐๐ บาท ชำระหนี้ค่าซื้อเพชรพลอยและทองรูปพรรณให้แก่นางฉัตรจรูญ วรรณเภรี ลงวันที่สั่งจ่ายวันที่ ๑๓ กรกฎคม ๒๕๑๗ ต่อมาวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๑๗ นางฉัตรจรูญ กสิกรไทย จำกัด สั่งจ่ายเงิน ๑๓,๐๐๐ บาท ชำระค่าซื่อเพชรพลอยและทองรูปพรรณให้แก่นางฉัตรจรูญ วรรณเภรี สั่งจ่ายเงินวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๑๗ นางฉัตรจรูญ วรรณเภรี มอบเช็คดังกล่าวเป็นการชำระหนี้ให้แก่นายซอเคียม แซ่เอง ต่อมานายซอเคียม แซ่เอง ชำเช็คไปเข้าบัญชีให้เรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้น นายซอเคียม แซ่เอง จึงนำเช็คทั้งสองฉบับมามอบคืนให้แก่นางฉัตรจรูญ วรรณเภรี นางฉัตรจรูญผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานภายในอายุความแล้ว ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๒
ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลอนุญาต
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
วินิจฉัยว่า ศาลฎีกาโดยมติของที่ประชุมใหญ่พิเคราะห์แล้ว ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คนั้นเกิดขึ้นเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้น ในคดีนี้ปรากฏว่า โจทก์ร่วมสลักหลังเช็คส่งมอบเช็คทั้งสองฉบับเป็นการชำระหนี้แก่นายซอเคียม แซ่เอง นายซอเคียมจึงเป็นผู้ทรงเช็คตามกฎหมาย ครั้นนายซอเคียมนำเช็คไปยื่นแล้ว ธนาคารผู้จ่ายปฏิเสธการจ่ายเงินในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๒๕๑๗ และ ๒ สิงหาคม ๒๕๑๗ ตามลำดับ วันที่ทั้งสองนั้นเป็นวันเกิดเหตุ ขณะนั้นนายซอเคียมเป็นผู้ทรงเช็ค นายซอเคียมจึงเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา หาใช่โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายไม่ แม้ว่าต่อมาโจทก์ร่วมจะได้ชำระเงินตามเช็คให้แก่นายซอเคียมไปแล้วก็ไม่ก่อให้โจทก์เกิดสิทธิเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา เมื่อโจทก์ร่วมมิใช่ผู้เสียหายในคดีนี้ โจทก์ร่วมก็ไม่มีสิทธิร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน การสอบสวนของพนักงานสอบสวนที่กระทำไปจึงไม่ชอบ เท่ากับไม่มีการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๒๐ พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ส่วนโจทก์ร่วมนั้นเมื่อไม่ใช่ผู้เสียหายแล้วก็ไม่มีอำนาจเป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญา คดีไม่จำต้องวินิจฉัยถึงปัญหาข้อเท็จจริงที่โจทก์ฎีกามา ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน