โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 339 ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 จำคุก 10 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 5 ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า คืนวันที่ 28 มิถุนายน 2553 นายโชติกา ผู้เสียหายนัดจำเลยซึ่งรู้จักกันมาก่อนไปดื่มสุราที่ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ สาขาบางกะปิ โดยจำเลยพานายปฏิพันธ์ซึ่งเป็นเพื่อนมาด้วย จากนั้นพากันไปดื่มสุราต่อที่ห้องพักของผู้เสียหายในหมู่บ้านเอื้ออาทร ร่มเกล้า 2 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร และอยู่ด้วยกันในห้องจนถึงเวลาประมาณ 16 นาฬิกา ของวันที่ 29 มิถุนายน 2553 ขณะผู้เสียหายเข้าไปอาบน้ำในห้องน้ำ จำเลยและนายปฏิพันธ์ใช้สายไฟของเครื่องเป่าผมผูกมัดประตูห้องน้ำไว้กับประตูระเบียงห้องทำให้ผู้เสียหายไม่สามารถออกจากห้องน้ำได้ ผู้เสียหายต้องปีนออกทางช่องระบายอากาศไปอยู่ที่ระเบียงด้านนอกแต่เข้าห้องพักไม่ได้ ระหว่างผู้เสียหายใช้มือขวาเปิดบานเกล็ด นายปฏิพันธ์ใช้มีดปอกผลไม้ปลายแหลม 1 เล่ม เป็นอาวุธฟันข้อมือของผู้เสียหาย 1 ครั้ง เป็นเหตุให้มีบาดแผลฉีกขาดยาว 1 เซนติเมตร แล้วจำเลยและนายปฏิพันธ์ร่วมกันลักเครื่องคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง ราคา 14,000 บาท กระเป๋าเดินทาง 1 ใบ ราคา 7,000 บาท จอแอลซีดี 1 เครื่อง ราคา 3,000 บาท กระเป๋าใส่เสื้อผ้า 1 ใบ ราคา 4,700 บาท และโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง ราคา 12,000 บาท รวมราคาทรัพย์ 40,700 บาท ของผู้เสียหายเดินลงจากอาคารห้องพัก ผู้เสียหายร้องขอความช่วยเหลือจำเลยและนายปฏิพันธ์ทิ้งทรัพย์ของผู้เสียหายที่ลักมาแล้วหลบหนี พลเมืองดีจับกุมนายปฏิพันธ์ไว้ได้ และเจ้าพนักงานตำรวจติดตามจับกุมจำเลยได้ในเวลา 22 นาฬิกา ของวันเกิดเหตุ นายปฏิพันธ์เป็นเยาวชนพนักงานสอบสวนแยกดำเนินคดีต่างหาก
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยกับพวกที่อ้างว่าเป็นการร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย โดยใช้มีดปอกผลไม้ปลายแหลม 1 เล่ม เป็นอาวุธฟันข้อมือขวาของผู้เสียหาย 1 ครั้ง มิได้บรรยายว่า จำเลยกับพวกร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย โดยใช้สายไฟของเครื่องเป่าผมผูกมัดประตูห้องน้ำไว้กับประตูระเบียงห้องจนเป็นเหตุทำให้ผู้เสียหายไม่สามารถออกจากห้องน้ำได้แต่อย่างใด ทั้งการที่จำเลยและนายปฏิพันธ์ใช้สายไฟของเครื่องเป่าผมผูกมัดประตูห้องน้ำไว้กับประตูระเบียงห้อง จำเลยและนายปฏิพันธ์ก็มิได้ใช้แรงกายภาพกระทำต่อผู้เสียหายอีกด้วย การกระทำของจำเลยและนายปฏิพันธ์ที่ใช้สายไฟของเครื่องเป่าผมผูกมัดประตูห้องน้ำไว้กับประตูระเบียงห้อง ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ด้วยเหตุดังกล่าว คงเป็นการกระทำที่เป็นการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 ซึ่งมิใช่เป็นการกระทำตามที่โจทก์บรรยายฟ้องและประสงค์จะให้ลงโทษจำเลย ส่วนที่นายปฏิพันธ์ใช้มีดปอกผลไม้ฟันข้อมือขวาของผู้เสียหาย 1 ครั้ง ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย โดยมีบาดแผลฉีกขาดยาวเพียง 1 เซนติเมตร ซึ่งในครั้งแรกผู้เสียหายเองยังเข้าใจว่าถูกกระจกบานเกล็ดบาดเสียด้วยซ้ำ แสดงว่านายปฏิพันธ์มิได้ฟันอย่างรุนแรงและโดยประสงค์ที่จะให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บหนักจนไม่สามารถขัดขวางการลักทรัพย์ได้ ที่ได้ความจากผู้เสียหายเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ภายหลังถูกฟัน ผู้เสียหายร้องขอให้จำเลยเอายามาให้และนายปฏิพันธ์เอายามาให้ผู้เสียหาย ยังนับว่าผิดวิสัยของคนร้ายที่ประสงค์ทำร้ายร่างกายเจ้าของทรัพย์เพื่อที่จะได้สะดวกต่อการลักทรัพย์ การกระทำของนายปฏิพันธ์ที่ใช้มีดปอกผลไม้ฟันข้อมือขวาของผู้เสียหาย จึงเป็นการกระทำที่มิได้เกี่ยวเนื่องกับการลักทรัพย์และเป็นเรื่องเฉพาะตัวของนายปฏิพันธ์เอง เพราะจากคำเบิกความของผู้เสียหายไม่ปรากฏว่าจำเลยรู้เห็นด้วยและในลักษณะอย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังไม่เป็นที่พอใจว่าจำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ คงมีความผิดฐานลักทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน