โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 64 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9, 18 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ริบรถยนต์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (6), 18 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 (ที่ถูก ไม่ต้องประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ แก่คนต่างด้าวเพื่อให้พ้นจากการจับกุม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน และปรับ 30,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 15,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบรถยนต์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุก 1 ปี เมื่อลดโทษให้กึ่งหนี่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 6 เดือน โดยไม่ปรับและไม่รอการลงโทษ คืนรถยนต์ของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า รถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) หรือไม่ เห็นว่า ทรัพย์สินที่ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) ได้นั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดในข้อหาความผิดที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยนั้นโดยตรง คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำฟ้อง สำเนาบันทึกการจับกุมโดยเจ้าพนักงานเอกสารแนบท้ายคำฟ้องและคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 เวลา 19.30 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยพร้อมยึดได้รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (รถแวนสองตอน) ของกลาง ซึ่งมีคนต่างด้าว 15 คน ที่หลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรนั่งโดยสารมาในรถด้วยในขณะที่อยู่ที่อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ก่อนที่จะมีการส่งคนต่างด้าวให้ไปทำงานที่จังหวัดนครปฐม ซึ่งจากพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นกรณีที่จำเลยใช้รถยนต์ของกลางโดยสารพาคนต่างด้าวทั้งสิบห้าคนซึ่งหลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้วไปส่งยังจุดหมายปลายทาง จึงเป็นการใช้รถยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะให้คนต่างด้าวนั่งโดยสารมาในรถด้วยเท่านั้น มิได้เป็นการใช้รถยนต์ของกลางเพื่อพาคนต่างด้าวหลบหนีให้พ้นจากการจับกุมหรือเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจับกุมของเจ้าพนักงานตำรวจโดยตรง ดังนี้ รถยนต์ของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่า รถยนต์ของกลางที่คนต่างด้าวนั่งโดยสารมาด้วยนั้นจะเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลซึ่งบรรทุกผู้โดยสารได้ไม่เกิน 7 คน แต่จำเลยกลับนำรถยนต์ของกลางดังกล่าวมาใช้บรรทุกคนต่างด้าว 15 คน ซึ่งมีจำนวนผู้โดยสารเกินกว่าที่ได้จดทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก และคนต่างด้าวนั่งโดยสารมาในห้องโดยสารในลักษณะแออัดยัดเยียด ซึ่งผิดวิสัยของการนั่งโดยสารมาในรถตามปกติทั่วไปก็ตาม ก็เป็นแต่เพียงการใช้รถยนต์ผิดประเภทและลักษณะการใช้งานของตัวทรัพย์เท่านั้น มิใช่พฤติการณ์ที่ถึงกับบ่งชี้ชัดว่าจำเลยมุ่งหมายที่จะใช้รถยนต์ของกลางดังกล่าวในการกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์โดยตรงดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น รถยนต์ของกลางจึงเป็นทรัพย์สินที่ไม่อาจริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่ริบรถยนต์ของกลาง แต่พิพากษาให้คืนรถยนต์ของกลางแก่เจ้าของนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน