โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 72,784.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และให้จำเลยส่งมอบคืนโฉนดที่ดินเลขที่ 16286 ตำบลแม่เจดีย์ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย พร้อมจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 2 ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลพิพากษา หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยในการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดิน และให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการออกใบแทนโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 2 ด้วย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหาย 78,715.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 71,715.43 บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานภาค 5 พิพากษาให้โจทก์ที่ 1 ชำระเงินจำนวน 78,715.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 กันยายน 2554 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 72,784.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และให้จำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 16286 ตำบลแม่เจดีย์ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย แก่โจทก์ที่ 2 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 5 ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 1 ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลย ตำแหน่งพนักงานขายบุหรี่ ได้รับเงินเดือน เดือนละ 4,500 บาท และค่าตอบแทนจากยอดขายสินค้า ต่อมาโจทก์ที่ 1 ลาออกมีผลวันที่ 1 พฤษภาคม 2553 วันที่ 28 สิงหาคม 2551 โจทก์ที่ 2 ทำสัญญาจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 16286 ตำบลแม่เจดีย์ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ไว้ต่อจำเลย เพื่อเป็นประกันการทำงานของโจทก์ที่ 1 ภายในวงเงิน 176,600 บาท ระหว่างทำงานจำเลยหักเงินของโจทก์ที่ 1 เดือนละ 500 บาท ไว้เป็นเงินสะสม รวมเป็นเงิน 9,000 บาท จำเลยกำหนดให้พนักงานขายรวมทั้งโจทก์ปฏิบัติตามคู่มือสำหรับพนักงานขาย ต่อมาวันที่ 22 ตุลาคม 2552 โจทก์ที่ 1 นำบุหรี่มูลค่า 144,500 บาท ไปจำหน่ายให้แก่นายสามารถ เจ้าของร้านสามารถการสุราซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลย และโจทก์ที่ 1 รับชำระค่าสินค้าเป็นเช็คเลขที่ 2547505 ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2552 ของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาย่อยหางดง จังหวัดเชียงใหม่ แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะบัญชีไม่พอจ่าย จำเลยแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาข้อหาความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คแก่นายสามารถ ศาลแขวงเชียงใหม่ออกหมายจับนายสามารถ ต่อมาจำเลยนำเงินค่าตอบแทนการขายบุหรี่ไทยที่โจทก์ที่ 1 มีสิทธิได้รับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 ถึงเดือนเมษายน 2553 จำนวน 63,784.57 บาท และเงินสะสมของโจทก์ที่ 1 จำนวน 9,000 บาท รวม 72,784.57 บาท ไปหักชำระหนี้ค่าบุหรี่ของนายสามารถ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ว่า โจทก์ที่ 1 ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่จำเลยหรือไม่ โดยโจทก์ที่ 1 อุทธรณ์ว่าตามระเบียบข้อบังคับ ข้อ 14 ที่กำหนดให้พนักงานขายต้องรับผิดชอบหากลูกค้าชำระค่าสินค้าเป็นเช็คและถูกปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค เป็นระเบียบข้อบังคับที่ขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เป็นโมฆะไม่สามารถใช้บังคับได้ ทั้งพิจารณาตามรายงานการรับชำระหนี้ ถือเป็นประเพณีการค้าที่จำเลยให้ลูกค้าชำระค่าสินค้าเป็นเงินสดหรือเช็คได้ นอกจากนายสามารถแล้วยังมีลูกค้ารายอื่นหลายรายที่ชำระหนี้ค่าสินค้าด้วยเช็คเช่นกัน นายสามารถเป็นลูกค้าของจำเลยมาหลายปีและชำระค่าสินค้าเป็นเช็คเป็นเวลาติดต่อกันซึ่งเช็คที่ชำระมาก็สามารถเรียกเก็บเงินจากธนาคารได้โดยตลอด ไม่มีเหตุขัดข้องหรือผิดปกติ โจทก์ที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่จำเลยนั้น เห็นว่า ปัญหาว่าเมื่อจำเลยไม่ได้รับชำระค่าสินค้าเนื่องจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทด้วยเหตุเงินในบัญชีไม่พอจ่าย จำเลยจะเรียกให้โจทก์ที่ 1 ชำระค่าสินค้าแทนโดยอาศัยคู่มือสำหรับพนักงานขาย ข้อ 14 ที่กำหนดว่า "พนักงานขายต้องรับผิดชอบบัญชีขายทุกรายการที่ตนเองขาย เช่น ร้านค้าเก็บเงินไม่ได้ เช็คคืน เป็นต้น" ได้หรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาว่าระเบียบข้อดังกล่าวเป็นการเอารัดเอาเปรียบกันถึงขนาดขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ ซึ่งหากถึงขนาดก็จะมีผลให้เป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ถ้าไม่ถึงขนาดขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนก็ต้องพิจารณาต่อไปว่าระเบียบข้อนี้ทำให้นายจ้างได้เปรียบลูกจ้างเกินสมควรหรือไม่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 14/1 ซึ่งบัญญัติว่า "สัญญาจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างที่ทำให้นายจ้างได้เปรียบลูกจ้างเกินสมควร ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้สัญญาจ้าง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งนั้นมีผลใช้บังคับเพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี" เมื่อคู่มือสำหรับพนักงานขาย ข้อ 14 เป็นการตกลงประกันการก่อให้เกิดความเสียหายไว้ล่วงหน้าว่าลูกจ้างที่มีส่วนได้รับค่าตอบแทนการขายจะต้องรับผิดชอบชดใช้ความเสียหายจากการตัดสินใจขายสินค้าให้แก่ลูกค้าของนายจ้าง อันมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนสิทธิและผลประโยชน์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง จึงไม่มีผลเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่เมื่อพิจารณาความผูกพันระหว่างจำเลยในฐานะนายจ้างกับโจทก์ที่ 1 ในฐานะลูกจ้างที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 6 จ้างแรงงาน การที่นายจ้างกำหนดระเบียบให้ลูกจ้างที่ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานโดยชอบและสุจริตแล้วยังจะต้องรับผิดชดใช้ความเสียหายที่ตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้น ย่อมเป็นระเบียบที่ทำให้นายจ้างได้เปรียบลูกจ้างเกินสมควรและไม่เป็นธรรมแก่ลูกจ้าง ลูกจ้างจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อเมื่อลูกจ้างปฏิบัติหน้าที่ของตนในการพิจารณาตัดสินใจเป็นผู้อนุมัติให้ขายสินค้าและรับชำระค่าสินค้าจากลูกค้าโดยไม่ถูกต้องและสุจริต อันเป็นผลให้ไม่สามารถเก็บเงินค่าสินค้าให้แก่นายจ้างได้ ดังนั้นคู่มือสำหรับพนักงานขายข้อ 14 คงมีผลบังคับใช้ให้โจทก์ที่ 1 ผู้เป็นลูกจ้าง รับผิดชำระค่าสินค้าแทนได้เฉพาะกรณีที่โจทก์ที่ 1 ตัดสินใจขายสินค้าและรับชำระค่าสินค้าด้วยเช็คจากลูกค้าโดยไม่ถูกต้องและไม่สุจริต เมื่อจำเลยกำหนดวิธีปฏิบัติงานของพนักงานขายไว้ในคู่มือสำหรับพนักงานขาย ซึ่งข้อ 12 กำหนดว่า "ให้ขายเป็นเงินสดหรือเช็คล่วงหน้าไม่เกิน 30 วันเท่านั้น กรณีที่ขายเป็นเช็คต้องมีชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ให้ชัดเจน เพื่อจะได้ช่วยติดตามในเวลามีปัญหาภายหลังได้ สำหรับร้านค้าที่เก็บเงินไม่ได้ห้ามลงสินค้าซ้ำ (ห้ามขาย) มิฉะนั้นพนักงานขายจะต้องรับผิดชอบหนี้ที่เกิดขึ้นทั้งหมดและทางบริษัทฯ ไม่มีนโยบายการขายวางบิลทุกกรณี หากพนักงานขายขายวางบิล ทางบริษัทฯ จะตัดเป็นหนี้ที่พนักงานขายคนนั้นต้องรับผิดชอบทันที และห้ามขายสินค้าให้กับร้านค้าที่ทางบริษัทฯ ได้ห้ามขาย (ที่แผนกลูกหนี้)" ข้อ 13 กำหนดว่า "สำหรับร้านค้าที่เคยขายเป็นเงินสดให้ขายเป็นเงินสดเท่านั้น ห้ามขายเชื่อ สำหรับร้านค้าที่เป็นรายใหม่ให้ขายเป็นเงินสดเท่านั้น" ข้อ 19 กำหนดว่า "ก่อนที่จะให้เครดิตร้านค้าใหม่ต้องรออนุมัติจากซุปเปอร์ไวเซอร์และทางฝ่ายบัญชีก่อนทุกครั้ง หากพนักงานขายให้เครดิตไปโดยไม่มีความเห็นยินยอมจากซุปเปอร์ฯ และทางฝ่ายบัญชี ถือว่าเป็นความรับผิดชอบของพนักงานคนนั้น ๆ กรณีเปิดขายร้านค้าใหม่หรือขายเป็นเช็คล่วงหน้า ต้องเขียนแบบฟอร์มการเปิดร้านค้าใหม่ทุกครั้งพร้อมทั้งขอหลักฐานต่างๆ ดังนี้ สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาทะเบียนพาณิชย์ สำเนาทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.20/21 สำเนาทะเบียนบ้าน ผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็ค สำเนาบัตรประชาชนผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็ค สำเนาการจดทะเบียนบริษัทฯ ห้าง ร้านค้าต่าง ๆ และตัวอย่างลายเซ็นผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็คในแบบฟอร์มการเปิดหน้าบัญชีร้านค้าใหม่" เช่นนี้ในการขายสินค้านั้นพนักงานขายมีอำนาจตัดสินใจในการขายสินค้าให้แก่ลูกค้าและรับชำระค่าสินค้าจากลูกค้า เว้นแต่การให้สินเชื่อแก่ลูกค้ารายใหม่ที่จะต้องได้รับการอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาและฝ่ายบัญชีก่อน และการรับชำระค่าสินค้าเป็นเช็คลงวันที่ล่วงหน้าต้องขอหลักฐานประกอบ ห้ามขายสินค้าให้แก่ลูกค้าที่มีประวัติไม่ชำระค่าสินค้าหรือที่แผนกลูกหนี้ของจำเลยมีคำสั่งห้ามขายสินค้าให้ เมื่อพิจารณาจากรายงานการรับชำระหนี้ ซึ่งระบุประวัติการชำระหนี้ของร้านสามารถการสุรานับแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2552 ถึงวันที่ 22 ตุลาคม 2552 พบว่าแม้ร้านสามารถการสุราเคยชำระค่าสินค้าด้วยเช็คแต่ก็สามารถเรียกเก็บเงินได้ และการชำระค่าสินค้าส่วนใหญ่มักจะชำระด้วยเช็คดั่งปรากฏว่าระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม 2552 ถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2552 ร้านสามารถการสุราสั่งซื้อสินค้ารวม 34 ครั้ง ชำระค่าสินค้าเป็นเงินสด 4 ครั้ง ขณะที่ชำระค่าสินค้าด้วยเช็ค 30 ครั้ง ซึ่งการชำระด้วยเช็คบางครั้งก็มีมูลค่าเพียง 15,978 บาท บางครั้งก็มีมูลค่าสูงถึง 79,875 บาท และ 112,187.50 บาท ร้านสามารถการสุราไม่มีประวัติการเรียกเก็บเงินค่าสินค้าไม่ได้มาก่อน และไม่ปรากฏว่าแผนกลูกหนี้ของจำเลยมีคำสั่งให้ยุติการจำหน่ายสินค้าให้แก่ร้านสามารถการสุรา นอกจากนี้ในวันที่ 21 ตุลาคม 2552 ร้านสามารถการสุราก็ได้ชำระค่าสินค้าให้แก่จำเลยครบถ้วน การที่ต่อมาวันที่ 22 ตุลาคม 2552 โจทก์ที่ 1 ขายสินค้าให้แก่ร้านสามารถการสุราอีกแม้จะรับชำระค่าสินค้าด้วยเช็คลงวันที่ 22 ตุลาคม 2552 ก็เป็นไปตามวิธีการชำระหนี้ที่เคยปฏิบัติต่อจำเลย และกรณีไม่ใช่การรับชำระค่าสินค้าด้วยเช็คลงวันที่ล่วงหน้าที่ต้องขอหลักฐานประกอบ ถือว่าโจทก์ที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ขายสินค้าและรับชำระค่าสินค้าถูกต้องตามคู่มือสำหรับพนักงานขายแล้ว หาได้มุ่งหมายให้จำเลยไม่ได้รับชำระหนี้ค่าสินค้าไม่ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานโดยชอบและสุจริต โจทก์ที่ 1 จึงไม่ต้องชำระค่าเสียหายให้แก่จำเลย ที่ศาลแรงงานภาค 5 พิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ฟังขึ้น เมื่อได้วินิจฉัยดังนี้แล้ว ส่วนที่โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์อีกว่า ศาลแรงงานภาค 5 พิพากษาเกินคำขอมานั้นจึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ต้องชำระเงินให้แก่จำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานภาค 5