โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีหมายเลขดำที่8505/2533 ของศาลแพ่ง ขอให้ให้บังคับจำเลยที่ 1 ส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทแก่โจทก์ และทำสัญญาซื้อขาย จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ หากขัดขืนขอถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที 1 หากจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถส่งมอบโฉนดที่ดินและทำสัญญาซื้อขายจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ ก็ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ราคาจำนวน 754,293.63 บาท จำเลยที่ 1 ได้โอนขายที่ดินพิพาทไปให้แก่จำเลยที่ 2 ภายหลังที่โจทก์ฟ้องเพียง 15 วัน โดยรู้อยู่ว่าจะเป็นทางทำให้โจทก์ต้องเสียเปรียบ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 16091 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่กลับเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ตามเดิม ให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวหากขัดขืนให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ไม่เคยทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ โจทก์มิใช่เจ้าหนี้และอยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิได้อยู่ก่อนจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 กระทำโดยสุจริตไม่ทำให้โจทก์ซึ่งมิใช่เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบเป็นการโอนโดยมีค่าตอบแทน โจทก์ฟ้องคดีภายหลังจำเลยที่ 1 ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว โดยโจทก์รู้อยู่แล้วว่า ไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ได้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โอนสุจริตและเสียค่าตอบแทน ไม่ฉ้อฉลต่อโจทก์และการโอนดังกล่าวไม่ทำให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์มิใช่เป็นผู้อยู่ในฐานะที่เป็นผู้จะซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และอยู่ในฐานะอันจะรับการจดทะเบียนที่ดินพิพาทได้ก่อนจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 16091 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2
จำเลย ทั้ง สอง อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ความจึงปรากฎว่าโจทก์ถึงแก่กรรมแล้วตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2535 ก่อนที่จำเลยทั้งสองจะยื่นอุทธรณ์นางประเทืองทิพย์ บุญผูก ผู้ปกครองทรัพย์มรดกของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 โดยมิได้ฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินผู้จดทะเบียนและนิติกรรมเข้ามาด้วย จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิถอนทะเบียนให้เป็นเช่นนั้น ศาลชอบที่่จะพิพากษาฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ผู้ที่โต้แย้งสิทธิของโจทก์ก็คือจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ที่ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินกระทำการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมส่วนเจ้าพนักงานที่ดินกระทำการไปตามอำนาจหน้าที่ การฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทนั้น ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 61 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อความปรากฎว่า ได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดิน ให้แก่ผู้ใดโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ผู้ดำรงตำแหน่งต่อไปนี้มีอำนาจเพิกถอน แก้ไขหรือเพิกถอน แก้ไขเอกสารที่ได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ได้ แล้วแต่กรณี" และวรรคท้ายบัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนหรือแก้ไขอย่างใดแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 71 ดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นตามวิธีการที่อธิบดีกำหนด" จากบทกฎหมายดังกล่าวมา เจ้าพนักงานที่ดินมีหน้าที่ดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองโดยมิได้ฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินเข้ามาด้วยนั้นเป็นการชอบแล้ว
พิพากษายืน