คดีสืบเนื่องมาจากศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำพิพากษาถึงที่สุดยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 122,000 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 94,582 บาท ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 1,320,000 บาท โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 300,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 2,019,800 บาท โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระแก่โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 300,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 430,500 บาท โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 365,000 บาท พร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความ จำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ที่ 3 และที่ 4 จึงยื่นคำขอให้ศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา
จำเลยที่ 2 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำขอของโจทก์ที่ 3 และที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความชั้นบังคับคดีทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับเป็นว่า ให้ศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำขอของโจทก์ที่ 3 และที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า ภายหลังจากศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์ทั้งห้าชนะคดี นายพิสิษฐ์ ซึ่งเป็นทนายความของโจทก์ทั้งห้าในชั้นอุทธรณ์ได้นำหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความมาให้โจทก์ทั้งห้าลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจคนละฉบับรวม 5 ฉบับ เพื่อใช้ดำเนินการแทนโจทก์ทั้งห้าในการขอให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการยึดอายัดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามชำระหนี้ตามคำพิพากษา หลังจากนั้นนายพิสิษฐ์นำหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความทั้งห้าฉบับดังกล่าว มากรอกข้อความลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 มีข้อความในทำนองเดียวกันสรุปได้ว่า โจทก์ทั้งห้ามอบอำนาจให้นายพิสิษฐ์ดำเนินการแทนเฉพาะในกิจการต่อไปนี้ และกรอกข้อความว่า "รับเช็คหรือเงินสดแทนข้าพเจ้าได้หรือโอนเงินเข้าบัญชีของผู้รับมอบอำนาจได้ กรณีที่จำเลยทั้งสามชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ตลอดจนลงลายมือชื่อแทนข้าพเจ้า ในการทำสัญญาหรือบันทึกข้อตกลงอื่นใดของจำเลยทั้งสามเกี่ยวกับคดีดังกล่าวข้างต้นได้ทุกประการ" จากนั้นเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2557 นายพิสิษฐ์ได้เจรจาทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2557 โดยจำเลยที่ 2 ตกลงชำระเงิน 4,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งห้าและมอบเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนกิ่งแก้ว เลขที่ 086xxxx และเลขที่ 086xxxx สั่งจ่ายระบุชื่อนายพิสิษฐ์เป็นผู้รับเงินรวมเป็นเงิน 500,000 บาท ให้แก่นายพิสิษฐ์ เมื่อเช็คถึงกำหนดนายพิสิษฐ์นำเช็คทั้งสองฉบับไปเรียกเก็บเงินและรับเงินตามเช็ค แต่ไม่ได้นำเงินไปให้แก่โจทก์ทั้งห้า ต่อมาวันที่ 10 เมษายน 2557 และวันที่ 26 เมษายน 2557 จำเลยที่ 2 โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ของนายพิสิษฐ์ จำนวนเงิน 150,000 บาท จากนั้นวันที่ 27 เมษายน 2557 นายพิสิษฐ์กับจำเลยที่ 2 ได้เจรจาตกลงทำบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 27 เมษายน 2557 ชำระเงินส่วนที่เหลือจำนวน 3,350,000 บาท จำเลยที่ 2 มอบเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนกิ่งแก้ว เลขที่ 086xxxx ถึง 086xxxx สั่งจ่ายระบุชื่อนายพิสิษฐ์เป็นผู้รับเงินจำนวน 31 ฉบับ รวมเป็นเงิน 3,350,000 บาท ให้แก่นายพิสิษฐ์ เมื่อเช็คถึงกำหนด นายพิสิษฐ์นำเช็คเลขที่ 086xxxx ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 จำนวนเงิน 150,000 บาท และเช็คเลขที่ 086xxxx ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2557 จำนวนเงิน 150,000 บาท ไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็คโดยไม่ได้ส่งมอบเงินให้แก่โจทก์ทั้งห้า ส่วนเช็คที่เหลืออีก 29 ฉบับ รวมเป็นเงิน 3,050,000 บาท นายพิสิษฐ์นำไปขายลดเช็คคืนให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 900,000 บาท และรับเงินไปจากจำเลยที่ 2 แล้ว โดยไม่ได้ส่งมอบเงินให้แก่โจทก์ทั้งห้าแต่อย่างใด เมื่อโจทก์ทั้งห้าทราบเรื่องที่นายพิสิษฐ์ปลอมหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ทั้งห้าและนำไปรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากจำเลยที่ 2 ดังกล่าว โจทก์ทั้งห้าจึงแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่นายพิสิษฐ์และต่อมาพนักงานอัยการได้ฟ้องนายพิสิษฐ์กับพวกในข้อหาร่วมกันปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ร่วมกันฉ้อโกง ยักยอก โดยเป็นผู้จัดการทรัพย์สินเป็นผู้มีอาชีพอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน นายพิสิษฐ์ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกนายพิสิษฐ์คดีถึงที่สุด นอกจากนี้โจทก์ที่ 3 และที่ 4 ยังได้ยื่นฟ้องนายพิสิษฐ์กับพวกเรียกเงินตามหนังสือรับสภาพหนี้ที่นายพิสิษฐ์กับพวกทำหนังสือรับสภาพหนี้ยินยอมชดใช้เงินที่นายพิสิษฐ์ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษามาจากจำเลยที่ 2
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่า โจทก์ที่ 3 และที่ 4 มีสิทธิขอให้ศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า ในคดีอาญาที่พนักงานอัยการฟ้องนายพิสิษฐ์ กับพวกต่อศาลชั้นต้นในข้อหาร่วมกันปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ร่วมกันฉ้อโกง ยักยอก โดยเป็นผู้จัดการทรัพย์สินเป็นผู้มีอาชีพอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ปรากฏว่า นายพิสิษฐ์ให้การรับสารภาพ ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกและคดีถึงที่สุดแล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า นายพิสิษฐ์ปลอมหนังสือมอบอำนาจแล้วนำไปใช้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความลดยอดหนี้และรับเงินจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ทั้งห้า และแม้ว่าโจทก์ทั้งห้าจะได้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความมอบให้แก่นายพิสิษฐ์ไป แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ที่ 3 ว่า โจทก์ทั้งห้ามีเจตนาเพื่อให้นายพิสิษฐ์นำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไปใช้เพื่อดำเนินการติดต่อกับศาลแทนโจทก์ทั้งห้าเท่านั้น ประกอบกับนายพิสิษฐ์เป็นทนายความของโจทก์ทั้งห้าย่อมถือเป็นผู้มีวิชาชีพและมีจรรยาบรรณเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนว่าจะกระทำการใด ๆ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตตามหลักจริยธรรมทางวิชาชีพของตนเพื่อจรรโลงความยุติธรรมในสังคม ทั้งจะต้องรักษาผลประโยชน์แห่งลูกความของตนไม่ให้เป็นที่เสื่อมเสีย เช่นนี้ การที่นายพิสิษฐ์นำหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ทั้งห้าลงลายมือชื่อไปปลอมเอกสาร ย่อมถือไม่ได้ว่าเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ทั้งห้า เมื่อนายพิสิษฐ์นำหนังสือมอบอำนาจปลอมของโจทก์ทั้งห้าไปใช้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความลดยอดหนี้และรับเงินจากจำเลยที่ 2 โดยไม่ปรากฏว่า โจทก์ทั้งห้าร่วมรู้เห็นกับการกระทำของนายพิสิษฐ์ดังกล่าว การทำสัญญาระหว่างนายพิสิษฐ์กับจำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งห้า นายพิสิษฐ์จึงไม่มีฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์ทั้งห้า ไม่มีอำนาจรับเงินหรือเช็คจากจำเลยที่ 2 ไว้แทนโจทก์ทั้งห้า และมิใช่กรณีตัวแทนกระทำการโดยปราศจากอำนาจหรือทำนอกเหนือขอบอำนาจในอันที่ตัวการจะให้สัตยาบัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 823 ได้ ดังนี้ แม้โจทก์ที่ 3 และที่ 4 จะได้ฟ้องนายพิสิษฐ์ให้คืนเงินที่รับไว้จากจำเลยที่ 2 แก่โจทก์ที่ 3 และที่ 4 หรือร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาต่อนายพิสิษฐ์กับพวกก็ตาม ก็เป็นเพียงการเรียกร้องค่าเสียหายและการดำเนินคดีเนื่องจากโจทก์ที่ 3 และที่ 4 ถูกนายพิสิษฐ์กระทำละเมิด ฉ้อโกง และยักยอก ไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ที่ 3 และที่ 4 ได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำของนายพิสิษฐ์ดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา
นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่าภายหลังจากที่นายพิสิษฐ์รับเงินและเช็คจากจำเลยที่ 2 แล้ว นายพิสิษฐ์นำเช็คไปเรียกเก็บเงินและรับเงินตามเช็คเป็นของตน มิได้นำเงินที่ได้รับมาไปมอบให้แก่โจทก์ทั้งห้า ทั้งยังนำเช็คส่วนที่เหลืออีก 29 ฉบับ รวมเป็นเงิน 3,050,000 บาท ไปขายลดคืนให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคาเพียง 900,000 บาท เท่านั้น เมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินและค่าทนายความแก่โจทก์ทั้งห้ารวมเป็นเงิน 4,987,822 บาท แต่จำเลยที่ 2 ยังชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งห้าไม่ครบถ้วน ทั้งการที่นายพิสิษฐ์นำเช็คส่วนที่เหลือจำนวน 29 ฉบับ รวมเป็นเงิน 3,050,000 บาท ไปขายลดคืนให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคาเพียง 900,000 บาท ต่ำกว่าจำนวนเงินตามเช็คจำนวนมาก ซึ่งไม่มีเหตุผลใดที่นายพิสิษฐ์จะต้องนำเช็คมาขายลดคืนแก่จำเลยที่ 2 ในราคาดังกล่าวและไม่เป็นประโยชน์ต่อโจทก์ทั้งห้าที่เป็นลูกความ การที่จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 900,000 บาท แก่นายพิสิษฐ์เพื่อแลกกับเช็คจำนวน 3,050,000 บาท ที่จำเลยที่ 2 ไม่ต้องชำระแก่โจทก์ทั้งห้า ย่อมส่อแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่ 2 ที่สมคบกับนายพิสิษฐ์เพื่อที่จะไม่ชำระเงินแก่โจทก์ทั้งห้าตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นไปโดยไม่สุจริต เช่นนี้ จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจอ้างว่าตนได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทั้งห้าครบถ้วนแล้วขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งห้าได้ เมื่อโจทก์ทั้งห้ายังไม่ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ที่ 3 และที่ 4 จึงยังคงมีสิทธิขอให้ศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 ได้และหาเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกามาไม่ ส่วนที่โจทก์ทั้งห้ายื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า โจทก์ทั้งห้าได้รับชำระหนี้จากจำเลยทั้งสามเป็นที่พอใจแล้วไม่ประสงค์จะเรียกร้องสิ่งอื่นใดอีกและไม่ประสงค์จะบังคับคดีเอากับจำเลยทั้งสามอีกต่อไป ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2557 นั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งห้ายังไม่ได้รับชำระหนี้จากจำเลยทั้งสาม และการทำสัญญาประนีประนอมยอมความลดยอดหนี้ระหว่างนายพิสิษฐ์กับจำเลยที่ 2 เกิดจากการที่นายพิสิษฐ์ปลอมหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ทั้งห้า ใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมและร่วมกับพวกฉ้อโกงและยักยอกโจทก์ทั้งห้า การยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2557 ของโจทก์ทั้งห้าจึงเกิดจากการที่โจทก์ทั้งห้าถูกนายพิสิษฐ์กับพวกร่วมกันฉ้อโกงและยักยอก ไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ทั้งห้าไม่ประสงค์จะบังคับคดีเอากับจำเลยทั้งสามอีกต่อไป ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 หยิบยกปัญหาเรื่องหนังสือมอบอำนาจปลอมขึ้นวินิจฉัยเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จึงไม่ชอบนั้น เมื่อคดีนี้โจทก์ที่ 3 และที่ 4 ยื่นคำขอให้ศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา จำเลยที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยที่ 2 ได้ชำระหนี้แก่โจทก์ที่ 3 และที่ 4 ครบถ้วนแล้ว โดยชำระให้แก่นายพิสิษฐ์ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ทั้งห้า เช่นนี้ โจทก์ที่ 3 และที่ 4 ย่อมสามารถนำสืบหักล้างคำคัดค้านของจำเลยที่ 2 ได้ว่า นายพิสิษฐ์มิใช่ผู้รับมอบอำนาจหรือตัวแทนของโจทก์ทั้งห้า เนื่องจากหนังสือมอบอำนาจที่นายพิสิษฐ์นำไปใช้ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความลดยอดหนี้และรับเงินจากจำเลยที่ 2 เป็นหนังสือมอบอำนาจปลอมได้ หาใช่ข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงสามารถหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำพิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 2 ล้วนฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เนื่องจากโจทก์ที่ 3 และที่ 4 ได้ยื่นฟ้องนายพิสิษฐ์ ทนายความของโจทก์ที่ 3 และที่ 4 กับพวกเป็นจำเลยต่อศาลแพ่งในคดีหมายเลขดำที่ พ.3178/2560 เรียกเงินตามหนังสือรับสภาพหนี้ที่นายพิสิษฐ์กับพวกทำหนังสือรับสภาพหนี้ยินยอมชดใช้เงินที่นายพิสิษฐ์ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษามาจากจำเลยที่ 2 ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการบังคับคดี ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดเงื่อนไขในการได้รับชำระหนี้จากการบังคับคดีในคดีนี้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำขอของโจทก์ที่ 3 และที่ 4 โดยมีเงื่อนไขว่าหากโจทก์ที่ 3 และที่ 4 ได้รับชำระหนี้จากนายพิสิษฐ์กับพวก จำเลยในคดีหมายเลขดำที่ พ.3178/2560 ของศาลแพ่งไปแล้วเพียงใด ก็ให้สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ในคดีนี้ลดลงเพียงนั้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ