โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 91, 149, 157 นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อท.115/2562 ของศาลชั้นต้น และนับโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท.129/2562 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยทั้งสี่ขอถอนคำให้การปฏิเสธเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ กับรับว่าจำเลยทั้งสี่เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 5 ปี และปรับคนละ 39,000 บาท และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 จำคุก 3 ปี 4 เดือน และปรับ 26,000 บาท จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 คนละ 2 ปี 6 เดือน และปรับคนละ 19,500 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 8 เดือน และปรับ 13,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยทั้งสี่ได้กลับตัวเป็นคนดีสักครั้ง โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมประพฤติของจำเลยทั้งสี่ไว้ 1 ปี ให้จำเลยทั้งสี่ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว กับให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยทั้งสี่เห็นสมควรมีกำหนด 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 เมื่อศาลรอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสี่แล้ว คำขอให้นับโทษต่อของโจทก์ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 ฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานเรียกทรัพย์สินสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน รวม 6 กระทง ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกคนละกระทงละ 5 ปี จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละกระทงละ 2 ปี 6 เดือน รวมจำคุกคนละ 12 ปี 36 เดือน จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานเรียกทรัพย์สินสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน รวม 6 กระทง ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 1 ปี 8 เดือน รวมจำคุก 6 ปี 48 เดือน จำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 (เดิม) ประกอบมาตรา 83, 86 ฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานเรียกทรัพย์สินสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ กับฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานเรียกทรัพย์สินสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ การกระทำของจำเลยที่ 4 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน รวม 6 กระทง ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานเรียกทรัพย์สินสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ จำคุก 5 ปี ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานเรียกทรัพย์สินสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ รวม 5 กระทง จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 4 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานเรียกทรัพย์สินสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานเรียกทรัพย์สินสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ รวม 5 กระทง คงจำคุกกระทงละ 1 ปี 8 เดือน รวมจำคุก 7 ปี 46 เดือน ให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อท.115/2562 ของศาลชั้นต้น ส่วนที่ให้นับโทษจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท.129/2562 ของศาลชั้นต้นนั้น ไม่ปรากฏว่าในคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 คำขอส่วนนี้ของโจทก์ให้ยก
จำเลยทั้งสี่ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลศรีบุญเรือง มีอำนาจหน้าที่พิจารณาอนุมัติสั่งจ้างและต่อสัญญาจ้างให้แก่พนักงานจ้างตามภารกิจหรือพนักงานจ้างทั่วไป และมีอำนาจใช้ดุลพินิจในการต่อสัญญาจ้างเหมาบริการ จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลศรีบุญเรือง มีอำนาจหน้าที่ร่วมกับนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย แผนพัฒนา ข้อบัญญัติ ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการ จำเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลศรีบุญเรือง มีอำนาจหน้าที่เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานส่วนตำบลและลูกจ้างรองจากนายกองค์การบริหารส่วนตำบลศรีบุญเรือง รับผิดชอบควบคุมดูแลราชการประจำให้เป็นไปตามนโยบาย มีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่องค์การบริหารส่วนตำบลศรีบุญเรืองมอบหมาย และมีอำนาจหน้าที่พิจารณา ทำความเห็นในการสั่งจ้าง ต่อสัญญาจ้างให้แก่พนักงานจ้างตามภารกิจหรือพนักงานจ้างทั่วไปเสนอต่อนายกองค์การบริหารส่วนตำบลศรีบุญเรืองเพื่อพิจารณาสั่งจ้างต่อไป และจำเลยที่ 4 ดำรงตำแหน่งรองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลศรีบุญเรือง มีอำนาจหน้าที่เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานส่วนตำบลและลูกจ้างรองจากปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลศรีบุญเรือง รับผิดชอบควบคุมดูแลราชการประจำให้เป็นไปตามนโยบาย มีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่องค์การบริหารส่วนตำบลศรีบุญเรืองมอบหมาย และมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณา ทำความเห็นในการสั่งจ้าง ต่อสัญญาจ้างให้แก่พนักงานจ้างตามภารกิจหรือพนักงานจ้างทั่วไปเสนอนายกองค์การบริหารส่วนตำบลศรีบุญเรืองเพื่อพิจารณาสั่งจ้าง โดยเสนอผ่านปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลศรีบุญเรือง จำเลยทั้งสี่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเป็นเจ้าพนักงาน เมื่อประมาณปลายเดือนกรกฎาคม 2555 จำเลยที่ 3 และที่ 4 เรียกนางพรกนก พนักงานจ้างตามภารกิจ นายนพรัตน์ พนักงานจ้างทั่วไป นางสาวอุไรวรรณ พนักงานจ้างทั่วไป นางสาววัชราภรณ์ พนักงานจ้างทั่วไป นายมนูญ ผู้รับจ้าง และนายวชิราวุฒิ ผู้รับจ้าง ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาจ้างในวันที่ 30 กันยายน 2555 ไปพบที่ห้องทำงานของจำเลยที่ 3 แล้วจำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันแจ้งให้บุคคลทั้งหกทราบว่าหากจะต่อสัญญาจ้าง จำเลยที่ 1 จะเรียกเงินเพื่อเป็นค่าตอบแทนในการดำเนินการต่อสัญญาจ้าง ต่อมาประมาณต้นเดือนสิงหาคม 2555 จำเลยที่ 3 และที่ 4 เรียกบุคคลทั้งหกไปพบอีกครั้ง และสอบถามว่าประสงค์ต่อสัญญาจ้างกับองค์การบริหารส่วนตำบลศรีบุญเรืองหรือไม่ หากต่อสัญญาต้องจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 โดยนางพรกนก นายนพรัตน์ นางสาวอุไรวรรณ และนางสาววัชราภรณ์ จ่ายเงินคนละ 100,000 บาท ในปีแรก ส่วนปีต่อไปปีละ 20,000 บาท จนจำเลยที่ 1 ครบวาระ ส่วนนายมนูญและนายวชิราวุฒิจ่ายเงินคนละ 30,000 บาท ถึง 50,000 บาท เพียงครั้งเดียว หากไม่ยอมจ่ายเงินต้องลาออก และจำเลยที่ 1 ต้องการให้บุคคลทั้งหกไปพูดคุยเรื่องดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 บุคคลทั้งหกแจ้งจำเลยที่ 3 และที่ 4 ว่า เงินที่จำเลยที่ 1 เรียกนั้นสูงเกินไปและไม่มีเงินที่จะนำมาจ่าย จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงแจ้งให้บุคคลทั้งหกไปต่อรองกับจำเลยที่ 1 เอง ต่อมาช่วงบ่ายจำเลยที่ 4 พาบุคคลทั้งหกไปพบจำเลยที่ 1 ที่ห้องทำงาน โดยมีจำเลยที่ 2 ร่วมพูดคุยด้วย จำเลยที่ 1 แจ้งให้บุคคลทั้งหกทราบถึงรายละเอียดจำนวนเงินและวิธีการจ่ายเงิน กับรับประกันว่าหากยอมจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 จะต่อสัญญาจ้างให้ทุกคนจนกว่าจำเลยที่ 1 ครบวาระการดำรงตำแหน่ง บุคคลทั้งหกแจ้งจำเลยที่ 1 ว่าจำนวนเงินที่เรียกมานั้นสูงเกินไปและไม่มีเงินที่จะจ่ายให้จำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 พยายามต่อรองจำนวนเงิน โดยมีจำเลยที่ 2 พูดจาหว่านล้อมและชักจูงใจให้บุคคลทั้งหกยินยอมจ่ายเงินตามที่จำเลยที่ 1 เรียก แต่บุคคลทั้งหกยืนยันว่าไม่มีเงินและไม่สามารถหาเงินมาจ่ายให้จำเลยที่ 1 ได้ ต่อมาจำเลยที่ 1 ไม่ต่อสัญญาจ้างให้กับบุคคลทั้งหก การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสี่ข้อแรกมีว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นกรรมเดียวหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสี่ฎีกาได้ความว่า การเรียกเงินจากนางพรกนก นายนพรัตน์ นางสาวอุไรวรรณ นางสาววัชราภรณ์ นายมนูญ และนายวชิราวุฒิ เป็นการเรียกเงินในคราวเดียวกันเพียงครั้งเดียวเพื่อต่อสัญญาจ้างซึ่งจะสิ้นสุดในวันเดียวกัน โดยมีเจตนาเรียกเงินจากบุคคลดังกล่าวทุกคน มิได้มีเจตนาแบ่งแยกว่าเป็นใครหรือจะต่อสัญญาจ้างทีละคนแยกจากกันเป็นรายตัว การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นกรรมเดียวกันนั้น เห็นว่า การร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานเรียกทรัพย์สินสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบและการเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานเรียกทรัพย์สินสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบซึ่งได้กระทำในคราวเดียวกัน จะเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกันนั้น มิใช่พิจารณาแต่เพียงถ้าเป็นการกระทำครั้งเดียวคราวเดียวแล้วจะต้องเป็นกรรมเดียวเสมอไป การกระทำครั้งเดียวคราวเดียวอาจเป็นหลายกรรมต่างกันได้ หากผู้กระทำมีเจตนาหลายเจตนาที่จะให้เกิดผลต่างกรรมกัน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยทั้งสี่เรียกเงินและสนับสนุนการเรียกเงินเป็นค่าตอบแทนในการพิจารณาต่อสัญญาจ้างจากนางพรกนก นายนพรัตน์ นางสาวอุไรวรรณ และนางสาววัชราภรณ์ ซึ่งเป็นพนักงานจ้างตามภารกิจและพนักงานจ้างทั่วไป กับนายมนูญ และนายวชิราวุฒิ ซึ่งเป็นผู้รับจ้าง แตกต่างกันทั้งจำนวนเงินและระยะเวลา ประกอบกับหากบุคคลทั้งหกคนใดคนหนึ่งให้เงินหรือไม่ให้เงินแก่จำเลยทั้งสี่ จำเลยที่ 1 ก็ต่อสัญญาจ้างหรือไม่ต่อสัญญาจ้างให้แก่บุคคลทั้งหกเป็นรายบุคคลไป แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยทั้งสี่ที่ประสงค์จะให้เกิดผลของการกระทำความผิดต่อบุคคลทั้งหกแยกออกจากกันโดยชัดแจ้ง การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งสี่ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสี่ข้อต่อไปว่า มีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสี่หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลศรีบุญเรือง จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลศรีบุญเรือง จำเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลศรีบุญเรือง และจำเลยที่ 4 ดำรงตำแหน่งรองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลศรีบุญเรือง ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน แต่กลับมากระทำผิดเรียกเงินหรือสนับสนุนเรียกเงินสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบเพื่อต่อสัญญาจ้างหรือไม่ต่อสัญญาจ้างแก่พนักงานตามภารกิจ พนักงานจ้างทั่วไป หรือผู้รับจ้าง ซึ่งพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่เป็นภัยต่อสังคม อันเป็นเรื่องที่ร้ายแรง แม้จำเลยทั้งสี่รู้สำนึกในการกระทำความผิดโดยให้การรับสารภาพก็ตาม แต่จำเลยทั้งสี่ต้องคิดใคร่ครวญก่อนกระทำความผิด มิใช่เมื่อกระทำความผิดแล้วจึงมาอ้างเหตุดังกล่าวเพื่อขอให้ศาลรอการลงโทษ และเหตุที่จำเลยทั้งสี่ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน กระทำคุณความดีต่อสังคมและในการปฏิบัติงานราชการ หรือมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัวตามที่อ้างในฎีกาจำเลยทั้งสี่ ก็ยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสี่ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสี่นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งสี่ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน