โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 3, 16/2, 28/2
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคสอง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 และพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 16/2, 28/2 อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 28/2 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ให้ยกโทษจำคุกเสียตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 55 และให้ปรับจำเลย 4,000 บาท ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงปรับ 2,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดโทษปรับแก่จำเลยก่อนลดโทษเป็นเงิน 4,000 บาท เป็นการวางโทษต่ำกว่าอัตราโทษขั้นต่ำของความผิดตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 28/2 วรรคสอง ซึ่งกำหนดอัตราโทษปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 100,000 บาท หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยพาอาวุธปืนมีทะเบียนของจำเลยติดตัวไป ที่ร้านเดือนเด่น ซึ่งเป็นสถานบันเทิงเพื่อการรื่นเริง อันเป็นสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ทั้งไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ และไม่ได้รับยกเว้นใดๆ ตามกฎหมาย จำเลยให้การรับสารภาพผิดตามฟ้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคสอง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 และพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 16/2, 28/2 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน ดังนี้ แม้ว่าการปรับบทลงโทษจำเลยของศาลชั้นต้นตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 28/2 จะไม่ระบุวรรคให้ชัดเจน แต่การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ อ้างว่าเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติสถานบริการฯ มาตรา 28/2 วรรคหนึ่ง ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะอาวุธที่จำเลยพาติดตัวไปเป็นอาวุธปืน แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ คงมีแต่ฝ่ายจำเลยเท่านั้นที่อุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยตามประเด็นที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษว่า พฤติการณ์แห่งคดีไม่ร้ายแรง ยังไม่สมควรลงโทษจำคุกจำเลย กับใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง หยิบยกปัญหาการปรับบทตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 28/2 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยไม่ถูกต้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยขึ้นแก้ไขเสียให้ถูกต้อง แล้วพิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 28/2 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ให้ยกโทษจำคุกเสียตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 55 และให้ปรับ 4,000 บาท ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงปรับ 2,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ย่อมแสดงให้เห็นชัดแจ้งว่า สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติสถานบริการฯ นั้น เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงเพียงแต่ปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรา 28/2 วรรคสอง ให้ถูกต้องเท่านั้น แต่มิได้แก้ไขโทษให้สูงขึ้นด้วย เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในส่วนที่พิพากษาให้ยกโทษจำคุกเสียตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 55 และให้ปรับจำเลย 2,000 บาท จึงเป็นการกำหนดโทษให้เหมาะสมสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ได้วินิจฉัยว่ายังไม่สมควรลงโทษจำคุกจำเลยเท่านั้น หาใช่ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดโทษเช่นว่านั้นสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 28/2 วรรคสอง ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน