โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 188, 358 พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 59, 60
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพข้อหาทำลายบัตรที่มีไว้สำหรับออกเสียงประชามติ ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 (เดิม) พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 59 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 เดือน และปรับ 4,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 เดือน และปรับ 2,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 59 วรรคหนึ่ง, 60 (9) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานก่อความวุ่นวาย อันเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 60 (9) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 6,000 บาท ทางพิจารณาของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 4 เดือน ปรับคนละ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า ในวันเวลาเกิดเหตุเป็นวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้เป็นวันออกเสียงประชามติในประเด็นว่า ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช... ทั้งฉบับ และให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบประเด็นเพิ่มเติมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ "ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี" ในเวลาเกิดเหตุระหว่างเปิดการลงคะแนนออกเสียงประชามติ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงนอกเขตจังหวัดได้เข้าไปออกเสียงในหน่วยออกเสียงที่ 3 สำนักงานเขตบางนา กรุงเทพมหานคร เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับบัตรออกเสียงประชามติจากกรรมการประจำหน่วยออกเสียง จำเลยที่ 1 ไม่เข้าไปทำเครื่องหมายกากบาทในคูหาลงคะแนนออกเสียงแต่เดินไปที่หน้าหีบบัตรออกเสียงแล้วฉีกบัตรออกเสียงประชามติจนขาด จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ใช้โทรศัพท์มือถือบันทึกภาพเคลื่อนไหวในขณะที่จำเลยที่ 1 ฉีกบัตรออกเสียงประชามติ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า การที่จำเลยที่ 1 ฉีกบัตรออกเสียงประชามติเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 59 หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 59 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้ใดทำลายบัตรที่มีไว้สำหรับการออกเสียงโดยไม่มีอำนาจกระทำได้ หรือจงใจกระทำการด้วยประการใด ๆ ให้บัตรออกเสียงชำรุดหรือเสียหาย หรือกระทำการด้วยประการใด ๆ แก่บัตรเสียให้เป็นบัตรที่ใช้ได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท" ตามบทบัญญัติดังกล่าวเพียงแค่ทำลายบัตรที่มีไว้สำหรับออกเสียงก็เป็นความผิดแล้ว ไม่ว่าบัตรออกเสียงนั้นจะทำเครื่องหมายกากบาทแล้วหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฉีกบัตรออกเสียงถือว่าเป็นการทำลายบัตรที่มีไว้สำหรับออกเสียง จึงเป็นความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว คำพิพากษาฎีกาที่จำเลยที่ 1 อ้างมาในฎีกาข้อกฎหมายไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานก่อความวุ่นวายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 60 หรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งหมดเบิกความสอดคล้องตรงกันว่าขณะจำเลยที่ 1 ฉีกบัตรออกเสียงพร้อมพูดว่า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ถ่ายวิดีโอเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ ได้ความจากพันตำรวจตรีอภิโชค สารวัตรสืบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางนาเบิกความว่า ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้มีการตรวจสอบเฟซบุ๊กของจำเลยทั้งสามเพราะมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอที่จำเลยที่ 1 ฉีกบัตรออกเสียงที่หน่วยออกเสียงที่ 3 ถูกเผยแพร่ไปในเฟซบุ๊ก จากการตรวจสอบเฟซบุ๊กจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีการเผยแพร่วิดีโอดังกล่าวเช่นเดียวกัน พยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวมีน้ำหนักให้เชื่อว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรู้เห็นในการกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ด้วย ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำสืบต่อสู้ว่าไม่รู้เห็นในการกระทำของจำเลยที่ 1 นั้น ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสามดังกล่าว กล่าวคือ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิออกเสียง รับบัตรออกเสียงจากเจ้าหน้าที่แล้วไม่ทำเครื่องหมายกากบาทในช่องที่กำหนดภายในคูหาลงคะแนนออกเสียง แต่กลับไปยืนหน้าหีบบัตรออกเสียงพร้อมทั้งชูบัตรออกเสียงขึ้นเหนือศีรษะพร้อมพูดว่า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" พร้อมฉีกบัตรออกเสียง โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ใช้โทรศัพท์มือถือบันทึกวิดีโอเหตุการณ์ดังกล่าวจนเจ้าพนักงานตำรวจต้องเข้าระงับเหตุ ห้ามปรามและนำตัวออกไป ถือได้ว่าเป็นการก่อความวุ่นวายขึ้นในที่ออกเสียง จึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 60 (9) ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตภายใต้ระบอบประชาธิปไตยและได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น เห็นว่า ขณะเกิดเหตุรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ใช้บังคับ ตามรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมาตรา 4 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข... ย่อมได้การคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 27 บัญญัติว่า สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง... ย่อมได้รับความคุ้มครอง... และมาตรา 28 บัญญัติว่า บุคคลย่อม... ใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งถือได้ว่าเป็นประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และจำเลยทั้งสามย่อมมีสิทธิเสรีภาพตามบทบัญญัติดังกล่าว แต่ต้องใช้สิทธิและเสรีภาพนั้นไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ขัดต่อกฎหมาย การที่จำเลยที่ 1 ฉีกบัตรออกเสียงและจำเลยทั้งสามก่อความวุ่นวายขึ้นในที่ออกเสียงซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายดังวินิจฉัยมาแล้ว จำเลยทั้งสามจะอ้างว่าเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญหาได้ไม่ ฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า เห็นสมควรลงโทษจำเลยทั้งสามให้เบาลงหรือรอการกำหนดโทษให้แก่จำเลยทั้งสามหรือไม่ เห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการกระทำต่อหน้าสาธารณชน ทั้งยังนำไปเผยแพร่ทางเฟซบุ๊กซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ จำเลยทั้งสามกระทำโดยมีเจตนาเผยแพร่ให้บุคคลทั่วไปได้เห็นและได้ทราบการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายของจำเลยทั้งสามเพื่อโน้มน้าวหรือจูงใจให้ผู้ที่ได้เห็นการกระทำดังกล่าวเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นสิ่งที่ชอบธรรมอันจะก่อให้เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบ ก่อให้เกิดความไม่สงบในสังคม ซึ่งศาลอุทธรณ์ก็ยังให้โอกาสแก่จำเลยทั้งสามด้วยการรอการลงโทษจำคุกไว้ 1 ปี อยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะลงโทษจำเลยทั้งสามเบาลงอีก หรือรอการกำหนดโทษให้จำเลยทั้งสาม ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน