คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถาง และกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่าสงวนแห่งชาติ ป่าช่องหลาด จำนวน 4 แปลง รวมเนื้อที่ 60 ไร่ 3 งาน 99 ตารางวา โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เหตุเกิดที่ตำบลพรุใน (เกาะยาวใหญ่) อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 54, 55, 72 ตรี พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 14, 31 กับให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตป่าตามฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ก่อนสืบพยานผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ที่ดินที่เกิดเหตุคดีนี้เป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ที่ผู้ร้องมีสิทธิครอบครอง โดยผู้ร้องจดทะเบียนและรับโอนการครอบครองมาจากเจ้าของเดิม คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำเลย พร้อมกับมีคำขอส่วนแพ่งให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินที่เกิดเหตุ ซึ่งหากศาลพิพากษาให้จำเลยแพ้คดีต้องออกไปจากที่ดินที่เกิดเหตุ คำพิพากษาของศาลจะกระทบถึงสิทธิครอบครองของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในผลของคำพิพากษาทั้งเป็นบุคคลที่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากจำเลยและใช้สิทธิโต้แย้งคำพิพากษาเนื่องจากผู้ร้องมิได้เป็นบริวารของจำเลยได้ จึงขอให้ศาลอนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามในคดีส่วนแพ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 และขอให้พิพากษาห้ามมิให้จำเลย หรือหน่วยงานของรัฐ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมป่าไม้ และกรมที่ดินเข้ายุ่งเกี่ยวหรือขัดขวางการทำประโยชน์หรือการออกเอกสารสิทธิในที่ดินของผู้ร้องต่อไปด้วยศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญา ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ และพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ กับสั่งให้จำเลยและบริวารออกจากเขตป่า ซึ่งเป็นคำขอในวิธีอุปกรณ์ของโทษตามกฎหมายดังกล่าว เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติถึงบุคคลที่จะเข้าเป็นคู่ความในคดีอาญาไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเรื่องการร้องสอดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับได้ ทั้งการเข้ามาจะยุ่งยากแก่การพิจารณาคดีอาญา จึงไม่อนุญาตให้เข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามในคดีนี้ได้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา แม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะขอให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตป่าตามฟ้องมาด้วยก็ตาม แต่ก็เป็นการขอให้ศาลสั่งเมื่อมีคำพิพากษาชี้ขาดว่าบุคคลใดกระทำความผิดอันถือได้ว่าเป็นคำขออุปกรณ์ คดีนี้จึงเป็นคดีความอาญา ซึ่งวิธีพิจารณาคดีจะต้องบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งหากมีบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดวิธีพิจารณาคดีไว้โดยเฉพาะแล้ว ก็ไม่นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม สำหรับเรื่องการขอเข้าร่วมเป็นคู่ความในคดีอาญานั้นมีได้เฉพาะดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 30 และมาตรา 31 ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการและกรณีพนักงานอัยการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายในคดีที่มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวเท่านั้น นอกเหนือจากสองกรณีดังกล่าวแล้ว การขอเข้าเป็นคู่ความในคดีไม่อาจจะมีได้ ทั้งการอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 มาอนุโลมบังคับใช้ตามที่ผู้ร้องฎีกาก็ไม่ได้ เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติกรณีเข้าเป็นคู่ความในคดีนี้ไว้โดยเฉพาะตามมาตรา 30 และมาตรา 31 แล้ว ประกอบกับการเป็นคู่ความในคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (15) มีเพียงสองฝ่าย คือโจทก์ฝ่ายหนึ่งและจำเลยอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่มีคู่ความฝ่ายที่สาม ดังนั้น แม้ผู้ร้องอ้างว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีและมีสิทธิไล่เบี้ยเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากจำเลย ผู้ร้องก็ไม่อาจยื่นคำร้องสอดเข้ามาในคดีเพื่อเป็นคู่ความฝ่ายที่สามได้ ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของผู้ร้องจึงชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน