โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 มาตรา 4, 38, 39, 45, 58 ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 110/2557 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 92 ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกีย รุ่น x 3 สีขาว จำนวน 1 เครื่อง หูฟังสมอลทอร์ค 1 เส้น และอุปกรณ์สำหรับชาร์จแบตเตอรี่ 1 ชุด ของกลาง เพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย นับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ ย.4333/2545 คดีหมายเลขแดงที่ ย.11986/2545 ของศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ 4514/2544 คดีหมายเลขแดงที่ 372/2546 ของศาลจังหวัดชลบุรี คดีหมายเลขดำที่ 5380/2559 ของศาลชั้นต้น และคดีหมายเลขแดงที่ อ.303/2560 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษและนับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง (เดิม) จำคุก 9 เดือน เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 12 เดือน คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย.11986/2545 ของศาลอาญา คดีหมายเลขแดงที่ 372/2546 ของศาลจังหวัดชลบุรี คดีหมายเลขแดงที่ 1861/2560 ของศาลชั้นต้น และคดีหมายเลขแดงที่ อ.303/2560 ของศาลชั้นต้น ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกีย รุ่น x 3 สีขาว จำนวน 1 เครื่อง หูฟังสมอลทอร์ค 1 เส้น และอุปกรณ์สำหรับชาร์จแบตเตอรี่ 1 ชุด ของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 เวลาประมาณ 6.30 นาฬิกา นายสมใจ และนายสนธิรัตน์ เจ้าหน้าที่เรือนจำกลางบางขวาง ปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายควบคุมแดน 3 เข้าตรวจค้นเรือนนอนผู้ต้องขังห้องที่ 31 พบกล่องนมภายในบรรจุโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกีย รุ่น x 3 สีขาว 1 เครื่อง สายหูฟังโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เส้น และอุปกรณ์สำหรับชาร์จแบตเตอรี่ 1 ชุด ของกลาง
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะกระทำความผิดหรือไม่ เห็นว่า นายสมใจและนายสนธิรัตน์เป็นประจักษ์พยานในส่วนข้อเท็จจริงที่เข้าตรวจค้นตึกเรือนนอนของผู้ต้องขัง ห้องที่ 31 แล้วพบกล่องนม ซึ่งภายในมีโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์ซุกซ่อนอยู่ ซึ่งจุดที่ค้นพบอยู่ใกล้กันกับบริเวณที่จำเลยนอน โดยพยานทั้งสองต่างเบิกความถึงข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญได้อย่างชัดเจน เป็นลำดับขั้นตอน ต่อเนื่องเชื่อมโยงกันไม่มีข้อให้พิรุธสงสัย และเป็นการปฏิบัติงานไปตามหน้าที่ของตน เมื่อไม่ปรากฏว่าพยานทั้งสองเคยมีสาเหตุโกรธเคืองใด ๆ กับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะแกล้งเบิกความใส่ร้ายปรักปรำจำเลยให้ต้องเสียหาย เชื่อว่าเบิกความไปตามความเป็นจริง และเมื่อนายสนธิรัตน์สอบถาม จำเลยให้การรับว่าเป็นของตน จึงมีการดำเนินคดีแก่จำเลยไปตามขั้นตอน โดยไม่เอาผิดต่อผู้ต้องขังอื่น สอดคล้องกันกับคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลย โดยจำเลยให้การในรายละเอียดไว้ว่า เมื่อประมาณต้นเดือนพฤษภาคม 2556 เวลากลางวัน จำเลยออกไปเยี่ยมญาติจึงรู้จักชายคนหนึ่งไม่ทราบชื่อตัวและชื่อสกุลจริง เข้ามาเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำกลางบางขวาง ไม่ทราบมาเยี่ยมใคร พูดคุยถูกใจกันจึงขอให้ชายดังกล่าวนำโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมอุปกรณ์มาให้จำเลยไว้ใช้ในเรือนจำ ชายดังกล่าวนัดหมายจะนำมาให้จำเลยในวันที่ 20 พฤษภาคม 2556 เมื่อถึงวันนัดหมายเวลาประมาณ 10 นาฬิกา จำเลยออกไปพบตามนัด ชายดังกล่าวมอบสิ่งของตามที่สั่งใส่ถุงพลาสติกมาให้ จำเลยรีบนำกลับเข้าแดนเปิดถุงพลาสติกตรวจสอบดูพบว่ามีโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกีย รุ่น x 3 สีขาว 1 เครื่อง สายหูฟังโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เส้น และอุปกรณ์สำหรับชาร์จแบตเตอรี่ 1 ชุด จำเลยจึงเอาใส่ไว้ในกล่องนมที่วางอยู่ข้างที่นอนของจำเลย ซึ่งอยู่บริเวณหน้าห้องขังแต่อยู่ภายในห้องขัง จากนั้นทางฝ่ายควบคุมแดน 3 ให้จำเลยและนักโทษคนอื่นทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย จำเลยได้บอกกับนักโทษชาย น้อย ไม่ทราบชื่อตัวและชื่อสกุลจริง ที่ถูกคุมขังอยู่ห้องขังเดียวกันกับจำเลยว่ามีโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์ใช้แล้ว ให้ช่วยหาซิมการ์ดมาให้เพื่อจะนำมาใช้กับโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยจำเลยเล่าให้นักโทษชาย น้อย ฟังว่า มีโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์ซุกซ่อนไว้อยู่ที่ห้องขังของจำเลย นักโทษชาย น้อย รับปากว่าจะหาซิมการ์ดมาให้ ต่อมาวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 เวลาประมาณ 6.30 นาฬิกา ขณะจำเลยอยู่ที่ห้องขังกำลังเล่นโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่นั้นมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์หลายคนมาที่ห้องขัง จำเลยจึงรีบนำโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์ยัดใส่ไว้ในกล่องนมซึ่งวางอยู่ข้างที่นอน แต่ต่อมาถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ตรวจค้นพบ และยึดไว้เป็นของกลาง จำเลยให้การรับสารภาพว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์เป็นของจำเลยจริง แม้บันทึกคำให้การของผู้ต้องหาจะเป็นพยานบอกเล่า แต่จำเลยได้ให้การถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยไว้อย่างละเอียดชัดเจน ตั้งแต่รู้จักกับบุคคลภายนอกและนัดหมายให้บุคคลภายนอกลักลอบนำโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์เข้ามาในเรือนจำ ตลอดจน วัน เวลา สถานที่ และบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ยากที่จะคิดปรุงแต่งขึ้นมาในขณะนั้นทันทีเพื่อตอบพนักงานสอบสวน หากมิใช่ความจริง และเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นภายในเรือนจำ พนักงานสอบสวนมิใช่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไม่น่าจะทราบถึงรายละเอียดของวิธีการและบุคคลที่เกี่ยวข้องเหล่านั้น ทั้งมิได้มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย จึงมิน่าจะคิดปรุงแต่งเรื่องราวตามคำให้การนั้นขึ้นมาเพื่อจะปรักปรำจำเลย คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลย เป็นคำให้การที่หนักแน่น มีเหตุผล ดังนี้ เมื่อพิจารณาตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้น เชื่อว่าน่าจะพิสูจน์ความจริงได้ จึงเป็นพยานบอกเล่าที่สามารถรับฟังได้ ประกอบพยานหลักฐานอื่น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) นอกจากนั้น โจทก์ยังมีร้อยตำรวจเอกไพรัตน์ พนักงานสอบสวนเบิกความยืนยันว่า พยานแจ้งข้อกล่าวหาจำเลยที่เรือนจำกลางบางขวางว่านำเข้ามา เก็บรักษาไว้หรือรับไว้ซึ่งสิ่งของต้องห้ามเข้าเรือนจำโดยไม่ได้รับอนุญาต แจ้งสิทธิให้จำเลยทราบ จำเลยให้การรับสารภาพ โดยพยานได้อ่านรายละเอียดในบันทึกคำให้การให้จำเลยฟังและให้จำเลยอ่านก่อนลงลายมือชื่อ คำเบิกความของพนักงานสอบสวนดังกล่าว เป็นประจักษ์พยานในส่วนที่ว่าพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนไว้แล้วโดยชอบ มีการสอบถามจำเลยว่าอย่างใด และจำเลยให้การอะไรบ้าง คำเบิกความของร้อยตำรวจเอกไพรัตน์ นายสมใจ และนายสนธิรัตน์ ตลอดจนของกลางซึ่งค้นพบบริเวณเดียวกันกับที่จำเลยนอนอยู่ ล้วนเป็นพยานหลักฐานซึ่งมีแหล่งที่มาเป็นอิสระต่างหากจากบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา และมีคุณค่าเชิงพิสูจน์ที่สามารถสนับสนุนให้บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานประกอบบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา ที่เป็นพยานบอกเล่าเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 วรรคสอง พยานหลักฐานทั้งหมดของโจทก์ที่นำสืบมา เมื่อรับฟังประกอบกันแล้วมีน้ำหนักมั่นคง ที่จำเลยนำสืบว่า เหตุที่ลงลายมือชื่อให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เนื่องจากต้องการให้ฟ้องคดีโดยเร็ว และบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนจัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงนำมาให้จำเลยลงลายมือชื่อ โดยไม่มีทนายความ และไม่ได้แจ้งสิทธิให้ทราบก่อน เห็นว่า จำเลยตอบโจทก์ถามค้านว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยสามารถให้การปฏิเสธได้ แล้วตอบทนายจำเลยถามติงว่า เหตุที่ไม่ได้ปฏิเสธในชั้นสอบสวนเนื่องจากมีหัวหน้าฝ่ายวินัยยืนอยู่ในขณะสอบคำให้การและกลัวฝ่ายวินัยจะลงโทษ ดังนี้ แสดงว่าพนักงานสอบสวนมิได้มีพฤติการณ์ในการบังคับขู่เข็ญจำเลย และให้โอกาสจำเลยให้การได้โดยอิสระ จำเลยไม่มีเหตุต้องกลัวฝ่ายวินัยลงโทษเพราะให้การต่อหน้าพนักงานสอบสวน หากเจ้าหน้าที่ฝ่ายวินัยปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำเลยก็สามารถร้องเรียนหรือดำเนินคดีเอาผิดแก่เจ้าหน้าที่นั้นได้ และตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา ปรากฏข้อความว่าพนักงานสอบสวนได้แจ้งสิทธิของผู้ต้องหาให้แก่จำเลยทราบไว้แล้ว และสอบถามจำเลยด้วยว่าจะใช้สิทธิข้อใดหรือไม่ นอกจากนั้นยังสอบถามจำเลยว่ามีทนายความร่วมฟังการสอบสวนด้วยหรือไม่ หากไม่มีต้องการให้พนักงานสอบสวนจัดหาทนายความให้หรือไม่ ซึ่งจำเลยได้ตอบพนักงานสอบสวนไว้ว่า จำเลยทราบสิทธิที่แจ้งให้ทราบดีแล้วและไม่ขอใช้สิทธิข้อใดทั้งสิ้น จำเลยไม่มีทนายความและไม่ต้องการให้พนักงานสอบสวนจัดหาทนายความให้ โดยจำเลยลงลายมือชื่อไว้ในบันทึกคำให้การรับรองข้อเท็จจริงตามคำให้การนั้น นอกจากนั้นจำเลยคงอุทธรณ์เพียงว่า การที่จำเลยมีโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมอุปกรณ์ของกลางไว้ในครอบครองไม่ถือว่าเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 ที่ใช้อยู่ในขณะที่จำเลยกระทำความผิด โดยมิได้โต้แย้งบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาว่าพนักงานสอบสวนจัดทำขึ้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย มีข้อเท็จจริงไม่ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร จึงฟังได้ว่าจำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนไปตามความจริงโดยสมัครใจ พยานหลักฐานของจำเลยที่นำสืบมาไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยได้พบกับบุคคลภายนอกซึ่งมาเยี่ยมผู้ต้องขัง พูดคุยถูกใจกัน และจำเลยต้องการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไว้ใช้ จึงขอให้บุคคลภายนอกช่วยนำโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมอุปกรณ์มาส่งมอบให้แก่จำเลยในเรือนจำ ต่อมาบุคคลภายนอกสามารถลักลอบนำโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมอุปกรณ์ของกลางเข้ามาส่งมอบให้แก่จำเลยในเรือนจำได้ตามที่นัดหมาย เมื่อรับแล้วจำเลยนำกลับเข้าแดนตนเองไป จนต่อมาถูกจับกุมดำเนินคดีนี้ ซึ่งตามกฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความในมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 ข้อ 127 (9) แก้ไขโดยกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2547) ข้อ 3 กำหนดให้เครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ หรือเครื่องมือสื่อสารอื่น รวมทั้งอุปกรณ์สำหรับสิ่งของดังกล่าวเป็นของต้องห้ามมิให้นำเข้ามาหรือเก็บรักษาไว้ในเรือนจำ และพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้อยู่ในขณะที่จำเลยกระทำความผิด บัญญัติว่า “ผู้ใดเข้าไปในเรือนจำโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ดี หรือบังอาจรับจาก หรือส่งมอบแก่ผู้ต้องขัง นำเข้ามา หรือเอาออกไปจากเรือนจำซึ่งเงินหรือสิ่งของต้องห้ามโดยทางใด ๆ อันฝ่าฝืนระเบียบหรือข้อบังคับของเรือนจำก็ดี ผู้นั้นมีความผิด ต้องระวางโทษ...” บทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติให้การครอบครองหรือการเก็บรักษาไว้ซึ่งสิ่งของต้องห้ามในเรือนจำเป็นความผิด การที่จำเลยครอบครองและเก็บรักษาไว้ซึ่งสิ่งของต้องห้าม คือ โทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมอุปกรณ์ของกลางที่บุคคลภายนอกนำมาส่งให้เอาไว้นั้น แม้เป็นการผิดระเบียบข้อบังคับของเรือนจำ ก็เป็นเรื่องที่จำเลยอาจต้องรับผิดทางวินัยของผู้ต้องขัง แต่ยังถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การที่บุคคลภายนอกลักลอบนำโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมอุปกรณ์อันเป็นสิ่งของต้องห้ามเข้ามาให้จำเลยในเรือนจำ การกระทำของบุคคลภายนอกย่อมเป็นความผิดฐานนำสิ่งของต้องห้ามเข้ามาในเรือนจำตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นแล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับบุคคลภายนอกนั้นหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยและบุคคลภายนอกมิได้เป็นพวกเดียวกันมาก่อน เพิ่งรู้จักกันเมื่อบุคคลภายนอกมาเยี่ยมผู้ต้องขัง และไม่ได้ความว่ามีการวางแผนแบ่งหน้าที่กันกระทำผิดดังกล่าว ทั้งจำเลยต้องขังอยู่มิได้ออกไปนอกเรือนจำ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นตัวการร่วมกันกับบุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้นำโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมอุปกรณ์อันเป็นสิ่งของต้องห้ามเข้ามาในเรือนจำ แต่ถือว่าจำเลยเป็นผู้ก่อให้บุคคลภายนอกกระทำการอันเป็นความผิดเช่นว่านั้น จำเลยจึงเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 ซึ่งเป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ย่อมลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง แต่การกระทำของจำเลยยังคงถือได้ว่าเป็นการสนับสนุนให้บุคคลภายนอกกระทำความผิดฐานนำสิ่งของต้องห้ามเข้ามาในเรือนจำ จำเลยจึงยังคงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดนั้น ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนได้แม้โจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้องด้วยก็ตาม เนื่องจากความผิดฐานเป็นตัวการหรือผู้ใช้ย่อมรวมความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนด้วยอยู่ในตัวเอง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยและปรับบทกฎหมายที่ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 จำคุก 6 เดือน เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 8 เดือน ลดโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 5 เดือน 10 วัน นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย.11986/2545 ของศาลอาญา คดีหมายเลขแดงที่ 372/2546 ของศาลจังหวัดชลบุรี คดีหมายเลขแดงที่ 1861/2560 และคดีหมายเลขแดงที่ 303/2560 ของศาลชั้นต้น ริบของกลาง