โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,048,125 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 975,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เดิมเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 โจทก์กับจำเลยทำสัญญาจ้างเหมาบริการรักษาความปลอดภัยและอำนวยการจราจร ภายในสถานีขนส่งสินค้าพุทธมณฑลสถานีขนส่งสินค้าคลองหลวง และสถานีขนส่งสินค้าร่มเกล้า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2560 ค่าจ้างในแต่ละสถานีขนส่งสินค้าเดือนละ 325,000 บาท รวมค่าจ้าง 3,900,000 บาท โจทก์ได้ปฏิบัติตามสัญญาและจำเลยได้ชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์และจำเลยคงโต้แย้งกันเฉพาะการปฏิบัติงานของโจทก์ในการให้บริการรักษาความปลอดภัยและการอำนวยการจราจรในสถานีขนส่งสินค้าทั้งสามแห่งของจำเลย และเรียกร้องค่าจ้างจากจำเลยในเดือนตุลาคม 2560 อันเป็นเวลาภายหลังที่ระยะเวลาตามสัญญาจ้างเหมาบริการฯ เดิมสิ้นสุดลงแล้ว เป็นเงิน 975,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไป
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า เมื่อสัญญาจ้างเหมาบริการฯ ระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2560 แล้วโจทก์ยังคงปฏิบัติงานในการรักษาความปลอดภัยและอำนวยการจราจรต่อไปในเดือนตุลาคม 2560 หรือไม่ และจำเลยต้องชำระค่าบริการหรือค่าจ้างตามอัตราในสัญญาจ้างเหมาบริการฯ เดิมให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดีมีน้ำหนักให้น่าเชื่อว่า การที่พยานทั้งสามซึ่งต่างเป็นนายสถานีของสถานีขนส่งสินค้าของจำเลยมิได้ปฏิเสธโดยชัดแจ้งต่อผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ก็เนื่องจากสถานีขนส่งสินค้าทั้งสามแห่งยังมีความจำเป็นที่จะต้องให้โจทก์ปฏิบัติงานในการรักษาความปลอดภัยและอำนวยการจราจรเพื่อประโยชน์ของจำเลยในระหว่างที่รอการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เพื่อทำสัญญากับผู้รับจ้างรายใหม่ ซึ่งเหตุจำเป็นดังกล่าวยังได้ความจากคำเบิกความของพยานทั้งสามด้วยว่า แม้ว่าจำเลยจะสามารถจัดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานรักษาความปลอดภัยได้เอง จำเลยก็มีความจำเป็นต้องจ้างบริษัทรักษาความปลอดภัย เพราะเจ้าหน้าที่ของจำเลยแต่ละคนมีงานรับผิดชอบประจำ ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อว่า พยานทั้งสามรู้อยู่แล้วว่าโจทก์ยังคงปฏิบัติงานในการรักษาความปลอดภัยและอำนวยการจราจรต่อไปแต่กลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการใด ๆ ให้เกิดความชัดเจนที่แสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยปฏิเสธไม่ให้โจทก์ปฏิบัติงานอีกต่อไปภายหลังที่สัญญาจ้างเหมาบริการฯ ระหว่างโจทก์กับจำเลยได้สิ้นสุดลงแล้ว ประกอบกับต่อมาเมื่อโจทก์มีหนังสือฉบับแรกลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 แจ้งไปยังอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ให้ชำระค่าบริการหรือค่าจ้างในเดือนตุลาคม 2560 โดยอ้างถึงสัญญาจ้างรับเหมาบริการฯ ทั้งสามฉบับที่ทำระหว่างโจทก์กับจำเลยว่า ภายหลังครบกำหนดตามสัญญาแล้ว โจทก์ยังคงให้บริการรักษาความปลอดภัยและเข้าปฏิบัติงานที่สถานีขนส่งสินค้าทั้งสามแห่งเรื่อยมาจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2560 โดยจำเลยมิได้ทักท้วงแต่อย่างใด หลังจากนั้นโจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือฉบับลงวันที่ 21 กันยายน 2561 แจ้งไปยังอธิบดีกรมการขนส่งทางบกอีกครั้งให้ชำระค่าบริการโดยอ้างถึงสัญญาและการเข้าปฏิบัติงานเช่นเดียวกับหนังสือให้ชำระค่าบริการฉบับแรก ซึ่งข้อนี้นางสาวรวิภา พยานจำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านรับว่า จำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามจากโจทก์ แต่ไม่ได้ตอบกลับไปยังโจทก์ อันเป็นกรณีที่จำเลยนิ่งเฉยเสียโดยไม่ได้มีหนังสือชี้แจงหรือปฏิเสธข้อเท็จจริงใดให้เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ทั้งที่หนังสือทวงถามให้จำเลยชำระค่าจ้างแก่โจทก์นั้น มีผลกระทบต่อจำเลยให้ต้องเสียประโยชน์โดยตรง การที่จำเลยไม่มีหนังสือปฏิเสธความรับผิดไปยังโจทก์ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเลยพึงกระทำเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตน แต่จำเลยหาได้กระทำไม่ จึงเป็นพิรุธ พฤติการณ์แห่งคดีถือได้ว่าโจทก์ได้ปฏิบัติงานในการรักษาความปลอดภัยและอำนวยการจราจรภายในสถานีขนส่งสินค้าทั้งสามแห่งให้จำเลยและจำเลยได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติงานตามลักษณะงานปกติเช่นที่โจทก์เคยปฏิบัติมา แต่ในการปฏิบัติงานของโจทก์ที่ให้บริการแก่จำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานราชการ โจทก์ทราบดีว่าจะต้องเป็นการทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือเช่นเดียวกับสัญญาจ้างเหมาบริการฯ เมื่อจำเลยอยู่ระหว่างดำเนินการประกวดราคาและยังไม่ได้ผู้รับจ้างรายใหม่ ในช่วงเวลาดังกล่าวโจทก์ไม่ได้มีหน้าที่ให้บริการแก่จำเลยการที่โจทก์ให้บริการต่อมาอีก 1 เดือน แม้เจ้าหน้าที่ของจำเลยรับเอาการปฏิบัติงานของโจทก์แต่ก็หาได้มีการดำเนินการจัดจ้างโจทก์ตามขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติ จึงไม่ได้มีการต่อสัญญากันแต่อย่างใด หากแต่เป็นกรณีโจทก์เข้าจัดการงานของจำเลยโดยไม่มีหน้าที่ ซึ่งแม้จำเลยไม่ได้มอบหมายให้กระทำก็ตาม แต่การให้บริการของโจทก์สมประโยชน์ของจำเลยตัวการตามข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าว ศาลมีอำนาจปรับบทในเรื่องจัดการงานนอกสั่งได้ ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าใช้จ่ายในการให้บริการ ตามอัตราค่าจ้างที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างเหมาบริการฯ เดิม เป็นเงิน 975,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่เมื่อหนังสือแจ้งให้ชำระค่าบริการ โจทก์ให้จำเลยชำระภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหรือถือว่าได้รับหนังสือ และปรากฏตามใบตอบรับไปรษณีย์ในประเทศแนบหนังสือแจ้งให้ชำระหนี้ดังกล่าว มีผู้รับแทนจำเลยเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2561 ซึ่งครบกำหนด 15 วัน ในวันที่ 9 ตุลาคม 2561 จำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2561 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 975,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2561 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ