โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑, ๖๕, ๗๐, ๗๒ ป.อ. มาตรา ๘๓ และให้ปรับจำเลยทั้งเจ็ดเป็นรายวันจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
จำเลยทั้งเจ็ดให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งเจ็ดมีความผิดตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ วรรคหนึ่ง ๖๕ วรรคหนึ่ง วรรคสอง , ๗๒ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๓๑ วรรคสอง, ๗๐ ป.อ. มาตรา ๓, ๑๗, ๘๓, ๙๕ (๔) ให้ปรับจำเลยทั้งเจ็ดคนละ ๒๐,๐๐๐ บาท และให้ปรับจำเลยทั้งเจ็ดเป็นรายวันวันละ ๑,๐๐๐ บาท ต่อจำเลย แต่ละคน รวมคนละ ๗๔๙ วัน เป็นเงินคนละ ๗๔๙,๐๐๐ บาท รวมปรับจำเลยทั้งเจ็ดคนละ ๗๖๙,๐๐๐ บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา ๒๙, ๓๐ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับบทลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑, ๖๕ (เดิม) , ๗๐, ๗๒ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๙, ๒๒, ๒๕ ปรับรายวันคนละ ๕๖๑ วัน เป็นเงินคนละ ๕๖๑,๐๐๐ บาท รวมปรับคนละ ๕๘๑,๐๐๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ถึงที่ ๗ ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า การก่อสร้างอาคารผิดแบบแปลนของจำเลยทั้งเจ็ดในคดีนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงสร้างสูงเกินกว่าที่กำหนดไว้ในแบบแปลน ย่อมเป็นความผิดสำเร็จเมื่อทำการก่อสร้างโครงสร้างอาคารและส่วนประกอบของโครงสร้างเช่น การฉาบปูน เสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนการตกแต่งภายในมิใช่งานเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงสร้างของอาคาร เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าการก่อสร้างโครงสร้างของอาคารผิดแบบแปลนเสร็จใน วันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๓๕ ความผิดของจำเลยทั้งเจ็ดจึงสำเร็จในวันดังกล่าวแล้ว โจทก์ต้องฟ้องคดีภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๓๕ คือภายในวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๔๐ แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๐ คดีโจทก์ ขาดอายุความแล้วตาม ป.อ. มาตรา ๙๕ (๔) สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๓๙ (๖) แม้จำเลยที่ ๒ จะมิได้ฎีกาแต่เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ ๒ ที่มิได้ฎีกาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๑๓ ประกอบมาตรา ๒๒๕
พิพากษากลับให้ยกฟ้องจำเลยทั้งเจ็ด .