โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 91 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีควมผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 8 ปี ฐานให้ที่พักพิงคนต่างด้าวเพื่อให้พ้นจากการจับกุม จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปี คงจำคุก 5 ปี 4 เดือน ฐานให้ที่พักพิงคนต่างด้าวเพื่อให้พ้นการจับกุม คงจำคุก 8 เดือน รวมจำคุก 5 ปี 12 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก ฐานข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาของตน จำคุก 5 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน เมื่อรวมกับโทษฐานให้ที่พักพิงคนต่างด้าวเพื่อให้พ้นจากการจับกุมแล้ว คงจำคุก 3 ปี 12 เดือน ยกฟ้องฐานะกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ปัญหาข้อเท็จจริงข้อแรกมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ผู้เสียหายเบิกความว่า เมื่อจำเลยทราบว่า ผู้เสียหายตั้งครรภ์ได้ประมาณ 2 เดือน ก็ไม่ได้กระทำชำเราผู้เสียหายอีก แต่ผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ ยืนยันว่า ผู้เสียหายตั้งครรภ์มาแล้วประมาณ 15 สัปดาห์ซึ่งนานกว่า 3 เดือน ผู้เสียหายตั้งครรภ์ตั้งแต่เดือนมกราคม 2546 ผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยเกินกว่า 3 เดือน นับแต่ที่รู้ว่าตนเองตั้งครรภ์ คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า ที่ผู้เสียหายเบิกความว่าตนเองตั้งครรภ์เมื่อใดนั้นเป็นเพียงกะประมาณเองเท่านั้นจะฟังแน่นอนยังไม่ได้เพราะผู้เสียหายไม่ใช่แพทย์ประกอบกับข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำเบิกความของผู้เสียหายซึ่งมีน้ำหนักน่าเชื่อถือว่าการกระทำผิดของจำเลยเป็นการกระทำต่อเนื่องมาโดยตลอดตั้งแต่เดือนเมษายน 2545 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2546 ผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2546 เป็นการร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ปัญหาข้อต่อมามีว่า ผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยกระทำชำเราหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายทำงานเป็นลูกจ้างอยู่ในบ้านของจำเลย ผู้เสียหายเบิกความยืนยันว่า ขณะเกิดเหตุถูกจำเลยข่มขู่ว่าหากไม่ยิมยอมให้จำเลยกระทำชำเราจะส่งตัวผู้เสียหายให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีในข้อหาหลบหนีเข้าเมือง จึงเห็นได้ว่าเหตุการณ์ในขณะนั้นผู้เสียหายอยู่ในภาวะเสียเปรียบไม่อาจต่อสู้ขัดขืนจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างของตนได้ จึงต้องจำยอมให้จำเลยกระทำชำเราตามที่ต้องการ ที่จำเลยฎีกาว่า ผู้เสียหายยินยอมให้กระทำชำเราตนเองจึงไม่ต้องรับผิด และหลังเกิดเหตุผู้เสียหายเรียกเงินจากจำเลย 200,000 บาท เพื่อยุติคดีนั้น เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ เพื่อให้ตนเองพ้นความรับผิดเท่านั้น ข้ออ้างของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง
ปัญหาประการสุดท้ายที่จำเลยฎีกาในข้อกฎหมายว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก แต่ศาลอุทธรณ์กลับพิพากษาให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก จึงไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า แม้ความผิดที่โจทก์ฟ้องจะขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก โดยอ้างว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายอายุ 14 ปีเศษ ซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลยโดยใช้กำลังประทุษร้าย และผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก อันเป็นความผิดที่รวมการกระทำตามที่โจทก์ฟ้องอยู่ด้วยแล้วศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามความผิดที่พิจารณาได้ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ได้ หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ได้ประสงค์ให้ลงโทษตามที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใด ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้วฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน