คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่าใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ 5758 เนื้อที่ 6 ไร่ ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี ได้ออกให้จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2554 ตกเป็นโมฆะ ให้นิติกรรมการจดทะเบียนจำนองที่ดินเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2554 และการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนอง และการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 5758 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตกเป็นโมฆะ ให้เจ้าพนักงานที่ดินขีดฆ่ารายการในสารบัญจดทะเบียนนับตั้งแต่รายการของวันที่ 18 เมษายน 2554 จนถึงปัจจุบัน ออกจากสารบัญจดทะเบียนของที่ดินโฉนดเลขที่ 5758 ให้จำเลยทั้งสี่จดทะเบียนโอนที่ดินแปลงดังกล่าว คืนแก่โจทก์ในฐานะเจ้าของที่แท้จริง หากจำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่ หากจำเลยทั้งสี่ไม่สามารถปฏิบัติได้ ให้จำเลยทั้งสี่ชดใช้ราคาที่ดินแก่โจทก์ 12,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จและสืบพยานจำเลยได้ 1 ปาก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เลื่อนคดีไปนัดสืบพยานจำเลยต่อในวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 แต่ในวันที่ 22 เมษายน 2558 มีการยื่นคำร้องขอถอนฟ้องโดยระบุว่า บริษัทโจทก์โดยนายคัทสุอากิ และนางธิฑิณันจ์ กรรมการผู้มีอำนาจไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสี่ต่อไป จึงถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2558 อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ต่อมาวันที่ 18 พฤษภาคม 2558 โจทก์โดยนายธนาพงศ์ ทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง โดยอ้างว่าศาลมีคำสั่งไปโดยผิดหลง เป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเพราะโจทก์ไม่มีความประสงค์ที่จะถอนฟ้องคดีนี้ เนื่องจากคณะกรรมการบริหารของโจทก์ไม่เคยมีมติให้ถอนฟ้องนายคัทสุอากิและนางธิฑิณันจ์ไม่เคยแจ้งคณะกรรมการของโจทก์ นางธิฑิณันจ์ไม่ใช่กรรมการที่เป็นผู้บริหารของโจทก์ ไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันโจทก์ การกระทำของนายคัทสุอากิเป็นปรปักษ์กับโจทก์ ไม่มีอำนาจกระทำในฐานะกรรมการของโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 74 คำร้องขอถอนฟ้องไม่ผูกพันโจทก์ การถอนฟ้องเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยที่ 1 ยื่นคำคัดค้านว่าคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องชอบแล้ว ขอให้ยกคำร้องศาลชั้นต้นไต่สวนและมีคำสั่งเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 ให้เพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องจำเลยทั้งสี่ ให้ยกคดีขึ้นพิจารณาและกำหนดวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 1 ตามรูปคดีต่อไป
จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 17 ตุลาคม 2559 ฉบับลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2559 ฉบับลงวันที่ 15 ธันวาคม 2559 และฉบับลงวันที่ 15 ธันวาคม 2559
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน แต่ให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 15 ธันวาคม 2559 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษา
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นตามที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีกรรมการ 5 คน นายโยชิฮารุ นายทาโร่ นายคัทสุอากิ นางธิฑิณันจ์ และนายเหนือเพชร กรรมการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของโจทก์กระทำการแทนโจทก์ได้ โจทก์โดยนายโยชิฮารุและนายเหนือเพชรลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของโจทก์มอบอำนาจให้นายภิญโญ ฟ้องจำเลยทั้งสี่ ภายหลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จและอยู่ระหว่างสืบพยานจำเลยทั้งสี่ โจทก์โดยนายคัทสุอากิและนางธิฑิณันจ์ลงลายมือชื่อร่วมกัน และประทับตราสำคัญของโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า มีเหตุต้องเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยทั้งสี่หรือไม่ เห็นว่า การถอนฟ้องเป็นการกระทำใด ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งอันเกี่ยวด้วยคดีซึ่งได้กระทำไปโดยคู่ความในคดี จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่จะต้องพิจารณาว่า ผู้กระทำการนั้นมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาในขณะนั้นหรือไม่เป็นสำคัญ หากมีการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่มีอำนาจอันเป็นการไม่ชอบแล้ว ก็ชอบที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ดำเนินกระบวนพิจารณานั้น หรือหากอนุญาตไปก่อนแล้วโดยผิดหลงก็ต้องสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียได้ เพื่อจักได้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องชอบด้วยกฎหมายต่อไป เมื่อโจทก์อ้างว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องโดยผิดหลง จึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องได้ คดีนี้โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีกรรมการ 5 คน คือ นายโยชิฮารุ นายทาโร่ นายเหนือเพชร นายคัทสุอากิ และนางธิฑิณันจ์ โดยกรรมการ 2 คน ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัทมีอำนาจกระทำการผูกพันโจทก์ได้ การพิจารณาอำนาจของกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการผูกพันโจทก์ในขณะโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องนั้น ต้องถือเอาข้อความในหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเป็นสำคัญ ดังนั้น เมื่อนายคัทสุอากิและนางธิฑิณันจ์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการผูกพันโจทก์ จึงมีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันโจทก์ในคำร้องขอถอนฟ้องได้ แต่อย่างไรก็ตามยังต้องพิจารณาด้วยว่าถ้าประโยชน์ได้เสียของนิติบุคคลขัดกับประโยชน์ได้เสียของผู้แทนนิติบุคคลในการอันใด ผู้แทนของนิติบุคคลนั้นจะเป็นผู้แทนในการอันนั้นไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 74 โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนเนื่องจากนายคัทสุอากิและจำเลยที่ 1 บอกว่า โจทก์มีทุนจดทะเบียนน้อยกว่าราคาที่ดินพิพาทที่ซื้อมา ไม่อาจใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทได้ แสดงว่ามูลเหตุของการฟ้องคดีนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการกระทำของนายคัทสุอากิ การไต่สวนก็ได้ความว่านายคัทสุอากิเคยอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 1 และมีบุตรด้วยกัน แม้เลิกรากันแล้ว แต่นายคัทสุอากิยังคงไปมาหาสู่กับบุตรที่เกิดกับจำเลยที่ 1 โดยเมื่อนายคัทสุอากิกลับมาประเทศไทยจะพักอาศัยอยู่ที่บ้านของบุตรที่เกิดกับจำเลยที่ 1 เป็นประจำ และในการไกล่เกลี่ยระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น นายคัทสุอากิก็อยู่ฝ่ายเดียวกับจำเลยที่ 1 ในการเจรจากับฝ่ายโจทก์ พฤติการณ์ของนายคัทสุอากิและจำเลยที่ 1 ดังกล่าวสอดรับกัน ส่อแสดงว่านายคัทสุอากิและจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายเดียวกันและเป็นคู่กรณีกับโจทก์ จึงมีประโยชน์ได้เสียร่วมกัน นายคัทสุอากิเป็นกรรมการคนหนึ่งที่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ จึงเป็นผู้แทนโจทก์ การที่นายคัทสุอากิขอถอนฟ้องเนื่องจากประสงค์ไม่ให้โจทก์ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 1 อันเป็นการขัดขวางมิให้โจทก์ใช้สิทธิทางศาล เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประโยชน์ได้เสียของโจทก์ ถือได้ว่าประโยชน์ได้เสียของโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลขัดกับประโยชน์ได้เสียของนายคัทสุอากิซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคล นายคัทสุอากิจึงไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อในฐานะกรรมการในคำร้องขอถอนฟ้อง เมื่อคำร้องขอถอนฟ้องกระทำโดยกรรมการคนหนึ่งที่ไม่มีอำนาจกระทำในฐานะกรรมการของโจทก์แล้ว คำร้องขอถอนฟ้องจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ ชอบที่ศาลชั้นต้นจะยกคำร้องขอถอนฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง จึงเป็นการสั่งโดยผิดหลง เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ชอบที่ศาลจะต้องเพิกถอนเสียได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่นางธิฑิณันจ์กรรมการอีกคนได้ลงลายมือชื่อในคำร้องขอถอนฟ้องเนื่องจากเข้าใจว่าเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการเจรจากันตามที่โจทก์นำสืบหรือไม่ ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ