คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4) (8), 134 วรรคหนึ่ง, 157, 160 วรรคสาม, 160 ทวิ และริบรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน นบร กท 926 ของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ขอให้สั่งคืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องมิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์ของกลาง ผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย การขอคืนของกลางของผู้ร้องเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของจำเลย ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า "...ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งรับฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน นบร กท 926 ของกลาง ตามรายการจดทะเบียนเอกสารหมาย ร.3 โดยผู้ร้องได้ให้นายยุทธ เงินโพธิ์ เช่าซื้อรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวในราคา 52,402.80 บาท ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย ร.4 ครั้นวันที่ 13 มกราคม 2544 จำเลยซึ่งเป็นบุตรของนายยุทธผู้เช่าซื้อได้นำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิดในคดีนี้ และถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมพร้อมยึดรถจักรยานยนต์ของกลาง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยและสั่งริบรถจักรยานยนต์ของกลาง คู่ความไม่อุทธรณ์ คดีจึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องมีว่า ผู้ร้องมีสิทธิร้องขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลางหรือไม่ ผู้ร้องมีนายธนะรักษ์ อินทรทัต ผู้รับมอบอำนาจผู้ร้องเป็นพยานเบิกความว่า รถจักรยานยนต์ของกลางที่นายยุทธเช่าซื้อไปจากผู้ร้องตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย ร.4 นั้น ผู้เช่าซื้อได้ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่ผู้ร้องเพียง 8 งวด หลังจากนั้นก็ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ ต่อมาวันที่ 15 มีนาคม 2544 ผู้เช่าซื้อได้แจ้งผู้ร้องว่า รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดไป ผู้ร้องจึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อตามเอกสารหมาย ร.5 ไปยังผู้เช่าซื้อ เห็นว่า ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย ร.4 ข้อ 5 ระบุว่า "ถ้าทรัพย์สินที่เช่าซื้อเสียหาย สูญหาย หรือถูกอายัด ถูกยึด ถูกริบ ไม่ว่าโดยเหตุสุดวิสัยหรือโดยเหตุใดๆ ผู้เช่าซื้อยอมรับผิดแต่ฝ่ายเดียวและจะแจ้งให้เจ้าของทราบทันที ยอมติดตามฟ้องร้องเอาคืน ยอมซ่อมแซมให้คืนสภาพเดิม และยอมชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาจนครบ หากเจ้าของได้จ่ายเงินไปเพื่อการดังกล่าว ผู้เช่าซื้อยินยอมชดใช้ให้ทั้งสิ้น" ข้อสัญญาดังกล่าวแสดงวัตถุประสงค์อยู่ในตัวว่า ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อต้องการราคาเช่าซื้อเป็นสำคัญ โดยผู้เช่าซื้อจะนำทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อไปใช้อย่างไรก็ได้ เมื่อสัญญาเช่าซื้อมีข้อกำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดต่อผู้ร้องในทุกกรณีอยู่แล้วเช่นนี้ ผู้ร้องจึงมิได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย อีกทั้งนายธนะรักษ์ผู้รับมอบอำนาจผู้ร้องเบิกความตอบคำถามค้านของโจทก์ยอมรับว่า ผู้ร้องได้มอบอำนาจให้นายยุทธผู้เช่าซื้อไปติดต่อรับรถจักรยานยนต์ของกลางที่ถูกยึดไว้คืนจากพนักงานสอบสวนตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ค.1 บ่งชี้ว่าผู้ร้องได้ทราบแล้วว่าจำเลยนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้กระทำความผิด และเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาริบรถจักรยานยนต์ของกลางคันดังกล่าวแล้ว ผู้ร้องก็มิได้บอกเลิกสัญญาต่อผู้เช่าซื้อ แต่ยังคงรับค่าเช่าซื้อในงวดที่ 7 และงวดที่ 8 ต่อมาอีก 2 งวด จนกระทั่งผู้เช่าซื้อไม่ชำระค่าเช่าซื้อในงวดที่ 9 ผู้ร้องจึงบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ดังนั้น สาเหตุที่ผู้ร้องบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อก็เนื่องมาจากผู้เช่าซื้อในงวดต่อๆ มา หาใช่เกิดจากการที่จำเลยนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปกระทำความผิดไม่ พฤติการณ์ของผู้ร้องที่มาขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลาง จึงเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้เช่าซื้อเข้าลักษณะผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลาง ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาต้องกันมาให้ยกคำร้องของผู้ร้องนั้นชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน