คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2561 ว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 59 ปรับ 10,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 5,000 บาท และปรับอีกวันละ 1,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2562 จำเลยยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคืนเงินค่าปรับที่จำเลยชำระนับถัดจากวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นต้นไป
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ในวันนัดไต่สวน ศาลชั้นต้นสอบถามคู่ความและนายทวี ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล ปฏิบัติหน้าที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่าย แถลงรับว่า จำเลยประกอบธุรกิจโรงแรม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน ต่อมาได้ยื่นคำร้องต่อองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่ายเพื่อดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 6/2562 ข้อ 2 (1) และองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่ายออกหนังสือ ที่ สต 71303/613 ว่า ได้ดำเนินการตรวจสอบสถานประกอบการโรงแรมของจำเลยแล้วผลปรากฏว่าดำเนินการแก้ไขอาคารตามคำสั่งดังกล่าวถูกต้องเรียบร้อย ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงมีคำสั่งงดไต่สวน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า มีเหตุที่จะกำหนดโทษจำเลยใหม่ในความผิดตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 59 หรือไม่ แม้จำเลยจะหยิบยกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 6/2562 เรื่อง มาตรการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานการประกอบธุรกิจโรงแรมบางประเภท ซึ่งออกคำสั่ง ณ วันที่ 12 มิถุนายน 2562 ขึ้นกล่าวอ้างภายหลังและคดีนี้ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วก็ตาม แต่จำเลยกำลังรับโทษปรับตามคำพิพากษาดังกล่าวอยู่ หากปรากฏตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังว่า จำเลยไม่ต้องรับโทษในการกระทำของจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 59 แล้ว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะร้องขอต่อศาลให้กำหนดโทษเสียใหม่ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังได้ เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง คดีนี้เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2561 จำเลยกระทำความผิดฐานประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ภายหลังคดีถึงที่สุด เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562 ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 6/2562 มีใจความสรุปได้ว่า รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการประกอบอาชีพสุจริตของชุมชนเพื่อให้เศรษฐกิจมีความคล่องตัว เกิดการกระจายรายได้ เกิดการสร้างงาน ขณะเดียวกันก็ลดความขัดแย้งในชุมชนและจัดให้กิจการที่อยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบให้ถูกต้องตามกฎหมาย มีการบริหารจัดการที่ดีและมีการตรวจสอบควบคุมโดยรัฐ ตามหลักการดังกล่าวนี้ปรากฏว่ามีผู้นำอาคารมาให้บริการเป็นที่พักแก่ประชาชน ตลอดจนใช้บ้านเรือนที่อยู่อาศัยให้บริการในรูปแบบของโรงแรมตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ เพื่อหารายได้ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งควรให้โอกาสดำเนินการเสียให้ถูกต้องภายในระยะเวลาและตามเงื่อนไขที่กำหนดเช่นเดียวกับที่เคยมีกฎหมายผ่อนผันในเรื่องอื่นไว้ทำนองเดียวกันแล้ว อันจะทำให้กิจการเหล่านี้เข้ามาอยู่ในระบบ จึงได้กำหนดไว้ในข้อ 2 (1) ของคำสั่งดังกล่าว ให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมซึ่งใช้อาคารในการประกอบธุรกิจโรงแรมอยู่ในวันก่อนที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ และอาคารนั้นมีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 ไปแจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบถึงการฝ่าฝืนและดำเนินการปรับปรุงระบบความปลอดภัยด้านอัคคีภัยให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงฉบับที่ 47 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แล้วติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถือ 1 เครื่อง ต่อพื้นที่อาคารไม่เกิน 200 ตารางเมตร ทุกระยะไม่เกิน 30 เมตร แต่ไม่น้อยกว่าชั้นละ 2 เครื่อง ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งมีผลใช้บังคับ พร้อมทั้งยื่นเอกสารหรือหลักฐานเพื่อประกอบการตรวจสอบ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนด ซึ่งต่อมาได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยื่นเอกสารหรือหลักฐานของผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมซึ่งมีอาคารที่มีลักษณะตามข้อ 2 ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าว จำเลยเสนอต่อศาลเป็นหนังสือขององค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่าย ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 เรื่อง การแก้ไขอาคารตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 6/2562 หนังสือดังกล่าวเป็นเอกสารของทางราชการ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องพร้อมเอกสารดังกล่าวของจำเลยไว้แล้ว มิได้โต้แย้งความถูกต้อง และนายทวี ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล ปฏิบัติหน้าที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่าย ผู้ลงนามในเอกสารได้แถลงรับรองเอกสารดังกล่าวต่อศาลชั้นต้น ตามรายงานกระบวนพิจารณา ฉบับลงวันที่ 30 มกราคม 2563 จึงรับฟังเอกสารนั้นเป็นหลักฐานได้ว่า จำเลยได้แจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบถึงการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทยแล้ว และต่อมานายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่ายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีหนังสือแจ้งต่อจำเลยว่า ตามที่องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่ายได้ดำเนินการตรวจสอบอาคารที่ใช้ประกอบกิจการโรงแรมตามหนังสือแจ้งประกาศกระทรวงมหาดไทย องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่ายได้ดำเนินการตรวจสอบแล้วผลปรากฏว่าสถานที่ประกอบกิจการของจำเลยได้ดำเนินการแก้ไข ตามอาคารที่มีลักษณะตามข้อ 2 วรรคหนึ่ง ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาตินี้ถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าว ข้อ 4 กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมซึ่งผ่านการตรวจสอบจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นแล้ว ได้รับยกเว้นโทษอาญาสำหรับความผิดตามข้อ 2 ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ดังนี้ ถือว่ากรณีเป็นเรื่องที่มีกฎหมายบัญญัติในภายหลังบัญญัติให้การกระทำของจำเลยไม่ต้องรับโทษ จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อมาว่า จำเลยมีสิทธิขอคืนเงินค่าปรับหรือไม่ เห็นว่า กรณีของจำเลยต้องตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวได้แยกผลของการกระทำความผิดและการบังคับโทษตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้วจากกันต่างหาก กล่าวคือ ในส่วนของการบังคับตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดนั้นหากมีส่วนใดที่ยังค้างอยู่ระหว่างการบังคับ ก็ให้การบังคับนั้นสิ้นสุดลง ไม่มีการบังคับในส่วนที่ค้างอยู่อีกต่อไปเท่านั้น หาได้มีผลให้รื้อฟื้นการบังคับโทษที่เสร็จสิ้นไปแล้วขึ้นมาพิจารณาใหม่อีกแต่อย่างใด โทษที่ได้รับมาแล้วต้องถือว่ายุติไปตามผลของคำพิพากษา ดังนั้น ค่าปรับที่จำเลยได้ชำระไปตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นถือว่าการบังคับโทษปรับในส่วนนั้นเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยจึงไม่อาจถอนคืนได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษากลับว่า จำเลยพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดในความผิดตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 59 คำขออื่นให้ยก