โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 289 และ 33 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7และ 72 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(1), 76 และ 52(1) พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7 และ 72 วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน จึงให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทง ความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานฆ่าบุพการีให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมตลอดจนในชั้นพิจารณาก็ให้ความรู้ต่อศาลด้วย มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 และ 78 ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต คงลงโทษจำคุก 6 เดือน ฐานฆ่าบุพการี คงลงโทษจำคุก 25 ปี รวมให้ลงโทษจำคุก 25 ปี 6 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายซึ่งเป็นบุพการีถึงแก่ความตาย มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้องหรือไม่ นางน้อยเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่าผู้ตายถือมีดยาวประมาณ 1 ศอก ลงจากบ้านแล้วเดินเข้ามาใช้มือดึงผมนางน้อยและจะใช้มีดแทง นางน้อยร้องเรียกให้นายแหลมช่วยจำเลยซึ่งนอนอยู่ข้างแคร่ได้ร้องห้าม แล้วมีการแย่งมีดออกจากตัวผู้ตาย แต่ไม่สามารถแย่งมีดมาได้ อีกทั้งผู้ตายใช้มีดไล่แทงนายแหลมนางน้อยกับบุตรรวมทั้งจำเลยยังคงนั่งอยู่ที่บริเวณแคร่สักครู่ได้ยินเสียงปืน 1 นัด นางน้อยวิ่งไปดูพบผู้ตายถูกยิงนอนอยู่ที่หน้าบ้านแต่นางน้อยให้การในชั้นสอบสวนว่า เมื่อมาถึงบ้านก็พบผู้ตายเมาสุราและบอกไม่ให้นางน้อยขึ้นบ้านเนื่องจากโมโหนางน้อยเรื่องลูก นางน้อยไม่ขึ้นบ้านและไปนั่งแกะเปลือกมะขามอยู่ที่แคร่หน้าบ้าน ต่อมาผู้ตายเดินมาหาและบอกว่ามีเรื่องจะคุยนางน้อยบอกว่าไม่รับฟัง ผู้ตายจะทะเลาะกับลูกอย่างไร นางน้อยไม่รับฟังแล้วเห็นจำเลยยืนอยู่และมีเสียงปืนมาจากทางที่จำเลยยืนอยู่ ส่วนผู้ตายล้มลง ซึ่งนางน้อยเชื่อว่าจำเลยยิงแน่นอนศาลฎีกาเห็นว่า นางน้อยให้การในทันที หลังเกิดเหตุไม่ทันได้คิดปรับปรุงเสริมแต่งคำให้การ ส่วนคำเบิกความในชั้นศาล นางน้อยมีเวลาคิดที่จะปรุงแต่งคำเบิกความเพื่อช่วยเหลือจำเลยซึ่งเป็นบุตรของตนได้ จึงน่าเชื่อว่านางน้อยให้การในชั้นสอบสวนด้วยความสัตย์จริง ซึ่งคำให้การดังกล่าวไม่ปรากฏว่า ผู้ตายถือมีดจะมาทำร้ายนางน้อยแต่อย่างใด ประกอบกับเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจไปสถานที่เกิดเหตุก็ไม่พบมีดและไม่มีผู้ใดนำมีดที่อ้างว่าผู้ตายนำมาไล่แทงนางน้อยมามอบให้พนักงานสอบสวนทั้ง ๆที่นางน้อยเบิกความว่ามีดที่ผู้ตายใช้ทำร้ายนางน้อยยังคงอยู่ที่บ้านของนางน้อย นอกจากนี้คำเบิกความของนางน้อยดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่าภยันตรายได้หมดไปจากนางน้อยแล้วเนื่องจากผู้ตายได้วิ่งไล่นายแหลมไปแล้ว จึงไม่มีภยันตรายที่จำเลยจะอ้างว่ากระทำเพื่อป้องกันนางน้อยอีก การกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าบุพการี ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนข้อหามีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ปรากฏจากคำให้การในชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ.2และคำเบิกความของนางน้อยว่าอาวุธปืนของกลางเป็นของผู้ตายการที่จำเลยหยิบอาวุธปืนของผู้ตายซึ่งวางอยู่บริเวณที่เกิดเหตุขึ้นมายิงผู้ตายนั้น อาวุธปืนดังกล่าวยังอยู่ในความครอบครองของผู้ตายจำเลยไม่มีความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตแต่อาวุธปืนของกลางเป็นอาวุธปืนที่ไม่มีทะเบียน ผู้ใดมีไว้เป็นความผิดจึงต้องริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งหมดนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน"
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(1) ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 18 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76ประกอบมาตรา 52(2) แล้ว จำคุก 25 ปี ทางนำสืบของจำเลยให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 16 ปี 8 เดือน ของกลางริบ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3