โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔ , ๗ , ๘ , ๑๕ , ๖๖ , ๖๗ , ๑๐๒ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒ , ๓๓ , ๕๘ , ๘๓ , ๙๑ , ๙๒ ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์มือถือหมายเลข ๐๑ - ๙๐๖๓๔๑๒ จำนวน ๑ เครื่อง ของกลาง
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔ , ๗ , ๘ , ๑๕ วรรคสอง , ๖๖ วรรคสอง , ๑๐๒ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒ , ๓๓ , ๘๓ การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดหลายกรรมเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนวางโทษจำเลยทั้งสี่จำคุกตลอดชีวิต ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ ๑๑ ปี จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณา ส่วนจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ คนละกึ่งหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ประกอบด้วยมาตรา ๕๓ ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุกจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีกำหนดคนละ ๒๕ ปี จำคุกจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ มีกำหนดคนละ ๓๓ ปี ๔ เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีกำหนดคนละ ๕ ปี ๖ เดือน จำคุกจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ มีกำหนดคนละ ๗ ปี ๔ เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีกำหนดคนละ ๓๐ ปี ๖ เดือน จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ มีกำหนดคนละ ๔๐ ปี ๘ เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์มือถือ หมายเลข ๐๑ - ๙๐๖๓๔๑๒ จำนวน ๑ เครื่อง ของกลาง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า? พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสี่พร้อมยึดได้เมทแอมเฟตามีนจำนวน ๑๐,๓๖๐ เม็ด และโทรศัพท์มือถือ หมายเลข ๐๑ - ๙๐๖๓๔๑๒ จำนวน ๑ เครื่อง ของจำเลยที่ ๓ เป็นของกลาง
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๓ ว่า จำเลยที่ ๓ ได้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายดาบตำรวจสวัสดิ์ สิงขิบุตร เป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันว่า เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๑ เวลาประมาณ ๑๗ นาฬิกา สายลับได้พาพยานซึ่งปลอมตัวเป็นพ่อค้าเพื่อล่อซื้อยาเสพติดให้โทษจากจำเลยที่ ๑ ไปพบจำเลยที่ ๑ ที่บ้าน สายลับแนะนำพยานให้รู้จักจำเลยที่ ๑ จากนั้นจำเลยที่ ๑ ก็แนะนำจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ให้พยานรู้จักแล้วจึงเจรจาซื้อขายเมทแอมเฟตามีนกันซึ่งขณะนั้นจำเลยที่ ๓ ก็อยู่ด้วยและช่วยในการเจรจา ในที่สุดตกลงซื้อขายกันจำนวน ๕ มัด แต่ละมัดมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน ๒,๐๐๐ เม็ด ราคามัดละ ๙๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๔๕๐,๐๐๐ บาท และจำเลยที่ ๔ ได้หยิบตัวอย่างเมทแอมเฟตามีนจำนวน ๒ เม็ด มาให้พยานดูด้วยแต่ขณะนั้นยังไม่มีของ จำเลยที่ ๑ จะนำเมทแอมเฟตามีนตามจำนวนที่ตกลงซื้อขายกันมาส่งมอบให้พยานในวันรุ่งขึ้น ซึ่งความข้อนี้ พันตำรวจโทสายัณห์ ปาลวัฒน์ พยานโจทก์อีกปากหนึ่งก็เบิกความสนับสนุนว่า เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๑ พยานได้รับแจ้งจากนายดาบตำรวจสวัสดิ์ ว่า นายดาบตำรวจสวัสดิ์ได้เจรจาซื้อขายเมทแอมเฟตามีนกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ แล้ว ในวันดังกล่าวจำเลยที่ ๔ ได้นำตัวอย่างมาให้ดูจำนวน ๒ เม็ด นอกจากนี้ข้อเท็จจริงก็ยังได้ความจากนายดาบตำรวจสวัสดิ์กับพันตำรวจโทสายัณห์ พยานโจทก์ต่อไปอีกว่า ในวันเกิดเหตุหลังจากพยานโจทก์ทั้งสองกับพวกจับกุมจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ แล้ว พันตำรวจโทสายัณห์ได้สอบถามจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ บอกว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ นำเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวมาจากบ้านของจำเลยที่ ๑ ซึ่งได้มีการซุกซ่อนไว้ก่อนที่จะนำมามอบให้นายดาบตำรวจสวัสดิ์พยานโจทก์ทั้งสองพร้อมชุดจับกุมจึงไปค้นบ้านของจำเลยที่ ๑ เมื่อไปถึงพบจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ซึ่งเคยร่วมในการเจรจาซื้อขายเมทแอมเฟตามีนกับนายดาบตำรวจสวัสดิ์มาแล้ว และผลการตรวจค้นบ้านของจำเลยที่ ๑ พบเมทแอมเฟตามีนจำนวน ๓๖๐ เม็ด บรรจุอยู่ในขวดกาแฟซุกซ่อนอยู่บริเวณข้างบ้านในกองไม้มันสำปะหลัง และยังพบโทรศัพท์มือถือ หมายเลข ๐๑ - ๙๐๖๓๔๑๒ อีก ๑ เครื่อง ที่ตัวจำเลยที่ ๓ ซึ่งจำเลยที่ ๓ เคยใช้โทรศัพท์ดังกล่าวติดต่อกับนายดาบตำรวจสวัสดิ์ พยานโจทก์ในการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนตอนแรก กรณีน่าเชื่อว่า พยานโจทก์ทั้งสองปากเบิกความตามที่ได้รู้เห็นมาจริง ประกอบกับในชั้นจับกุมจำเลยที่ ๓ ก็ให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ. ๓ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักมั่นคง ส่วนพยานหลักฐานของจำเลยที่ ๓ เท่าที่นำสืบมานั้นไม่มีน้ำหนักพอที่จะหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงแห่งคดีจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นสามีของจำเลยที่ ๑ ได้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ กระทำผิดตามฟ้อง?
อนึ่ง ความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกิน ๑๐๐ กรัม ตามมาตรา ๖๖ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ นั้น ให้ระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต แต่ศาลชั้นต้นวางโทษจำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานนี้ให้จำคุกคนละ ๑๑ ปี ก่อนลดโทษให้จึงต่ำกว่าโทษขั้นต่ำตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เมื่อโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๒ ประกอบมาตรา ๒๒๕
พิพากษายืน.