โจทก์ฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้จำเลยเป็นพนักงานของธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) สาขายานนาวา ตำแหน่งเจ้าหน้าที่อำนวยบริการ 11 มีหน้าที่ควบคุมดูแลการทำงานของพนักงานในการรับฝากและถอนเงินของลูกค้าธนาคาร โดยจำเลยมีอำนาจสั่งจ่ายเงินของธนาคาร กรณีถอนเงินครั้งละไม่เกิน 500,000 บาท และกรณีฝากครั้งละ1,000,000 บาท จำเลยได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรม กล่าวคือ เมื่อระหว่างวันที่22 กันยายน 2535 เวลากลางคืน ถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2538 เวลากลางวันติดต่อกันตลอดมาจำเลยได้หลอกลวงธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหาย ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง โดยได้ปลอมใบถอนเงินอันเป็นเอกสารสิทธิขึ้นหลายฉบับ ถอนเงินของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขายานนาวา อันเป็นสาขาหนึ่งของธนาคารผู้เสียหายออกจากบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์และบัญชีเงินฝากประจำประเภท 3 เดือน ของนางบรรจง ฉวีวงษ์ ลูกค้าของธนาคารจำนวน 18 ครั้ง และบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ของนายบุญส่ง ฉวีวงษ์ ลูกค้าของธนาคารอีกจำนวน 2 ครั้ง โดยจำเลยได้ลงลายมือชื่อปลอมของลูกค้าทั้งสองลงในช่องผู้รับเงินและผู้ถอนเงิน โดยที่ความจริงเจ้าของบัญชีดังกล่าวไม่ได้ถอนเงินและไม่ได้รับเงินแต่อย่างใด ทั้งนี้โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นางบรรจง นายบุญส่ง ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขายานนาวา และประชาชนและเมื่อจำเลยได้ปลอมใบถอนเงินดังกล่าวแล้ว จำเลยได้ใช้และอ้างเอกสารใบถอนเงินปลอมดังกล่าวต่อพนักงานธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขายานนาวา คนอื่น ให้ลงชื่อในช่องผู้ลงบัญชีหรือบางครั้งจำเลยก็ลงชื่อของจำเลยในช่องผู้ลงบัญชี เพื่อให้เอกสารใบถอนเงินสมบูรณ์สามารถถอนเงินออกจากเครื่องจักรลงบัญชี (เครื่องคอมพิวเตอร์) และรับเงินไปได้ ต่อมาจำเลยได้จัดทำใบฝากเงินบางส่วนกลับเข้าสู่บัญชีเงินฝากของลูกค้าทั้งสอง โดยฝากเงินจำนวนน้อยกว่าจำนวนเงินที่ถอนออกมา การกระทำการดังกล่าวทำให้จำเลยได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขายานนาวา เป็นเงินรวมทั้งสิ้น985,915.19 บาท และเมื่อระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน 2537 ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2539ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกันตลอดมา วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยได้ทำปลอมสมุดคู่ฝากบัญชีเงินฝากประจำประเภท 3 เดือน และบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์อันเป็นเอกสารสิทธิของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขายานนาวา ที่ออกให้แก่นางบรรจง ฉวีวงษ์ และทำปลอมสมุดคู่ฝากบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์อันเป็นเอกสารสิทธิของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขายานนาวา ที่ออกให้แก่นายบุญส่ง ฉวีวงษ์ขึ้นแต่บางส่วนโดยจำเลยนำสมุดคู่ฝากดังกล่าวมาจากนางบรรจงและนายบุญส่ง แล้วพิมพ์ข้อความเท็จลงในสมุดคู่ฝากดังกล่าวอันเป็นเอกสารที่แท้จริงในช่องวัน เดือน ปีช่องฝาก ช่องถอน ช่องคงเหลือ แล้วลงชื่อจำเลยกำกับไว้ ซึ่งจำเลยได้กระทำการดังกล่าวเพื่อให้นางบรรจงและนายบุญส่ง เจ้าของบัญชีเงินฝาก หลงเชื่อว่ารายการที่ปรากฏในสมุดคู่ฝากดังกล่าวเป็นรายการที่แท้จริงที่ลูกค้าทั้งสองฝากและถอนเงินกับธนาคาร อันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วยอดเงินฝากและถอนดังกล่าวเป็นยอดรายการที่จำเลยพิมพ์ขึ้นเอง ไม่ใช่ยอดเงินฝากที่แท้จริงของลูกค้าทั้งสองแต่อย่างใด และตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยได้ใช้และอ้างสมุดคู่ฝากปลอมดังกล่าวต่อนางบรรจงและนายบุญส่งธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขายานนาวา และประชาชนเหตุเกิดที่แขวงวัดพระยาไกร เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 9167/2542 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268, 341, 91 ให้จำเลยคืนเงินจำนวน985,915.19 บาท แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขายานนาวา และนับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษในคดีดังกล่าว
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265, 268 วรรคหนึ่ง และมาตรา 341 ประกอบด้วยมาตรา 91 การที่จำเลยปลอมสมุดคู่ฝาก ก็โดยเจตนาเพื่อใช้ประกอบใบถอนเงินปลอม ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นหลักฐานร่วมกันในการเบิกถอนเงินไปจากบัญชีฝากเงินตามฟ้อง ถือได้ว่าเป็นความผิดที่เกี่ยวเนื่องกันตั้งแต่จำเลยปลอมไปจนถึงวันที่จำเลยใช้เอกสารปลอมเหล่านั้นถอนเงินจากบัญชีเงินฝาก จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว หาได้เป็นความผิดต่างกรรมกันไม่ เมื่อจำเลยใช้สมุดคู่ฝากปลอมและใบถอนเงินปลอมอันเป็นเอกสิทธิร่วมกันถอนเงินจากบัญชีเงินฝากตามฟ้องรวมจำนวน 20 ครั้ง จึงเป็นความผิด 20 กระทง แต่ความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมกับความผิดฐานฉ้อโกงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมเมื่อจำเลยเป็นผู้ปลอมและเป็นผู้ใช้เอกสารปลอม จึงให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 268 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 265 ตามมาตรา 268 วรรคสองให้จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 60 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกมีกำหนด 30 ปีที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่9167/2542 ของศาลชั้นต้น ปรากฏว่าสำหรับความผิดฐานใช้ใบถอนเงินปลอม ฐานฉ้อโกง ฐานใช้สมุดคู่ฝากปลอม โจทก์จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกัน และผู้เสียหายก็เป็นรายเดียวกัน ถ้าโจทก์แยกฟ้องจำเลยแต่ละกระทงความผิดและศาลมีคำสั่งให้พิพากษาคดีรวมกัน ก็จะลงโทษจำเลยได้ไม่เกินกำหนด 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91(2) ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4378/2542 ของศาลชั้นต้น ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยฐานใช้ใบถอนเงินปลอม 3 ปี และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 9167/2542 ของศาลชั้นต้น ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยฐานใช้ใบถอนเงินปลอม17 ปี และฐานปลอมและใช้สมุดคู่ฝากปลอมอีก 6 ปี รวมจำคุก 23 ปี เมื่อนำโทษในความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมในคดีนี้ไปรวมกับความผิดฐานปลอมและใช้ใบถอนเงินปลอมในคดีดังกล่าวแล้ว จึงเกินกำหนด 20 ปี คดีนี้แม้ศาลกำหนดโทษจำคุกจำเลย30 ปี แต่เนื่องจากโจทก์แยกฟ้องทั้งที่เป็นคดีที่เกี่ยวพันกัน จึงต้องอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2) ดังนั้นเมื่อโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4378/2542 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 9167/2542 ของศาลชั้นต้น ในความผิดเฉพาะฐานปลอมใบถอนเงินและใช้ใบถอนเงินปลอมเกินกว่า 20 ปีแล้ว จึงให้ยกคำขอในส่วนที่ให้นับโทษต่อ จำเลยคงรับโทษตามที่กำหนดไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4378/2542 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 9167/2542 ของศาลชั้นต้น เท่านั้นให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 985,915.19 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานปลอมสมุดคู่ฝากและใช้สมุดคู่ฝากอันเป็นเอกสารสิทธิปลอมอีกกรรมหนึ่งต่างหาก จำเลยกระทำความผิดรวม3 กระทง ให้ลงโทษจำเลยฐานใช้สมุดคู่ฝากอันเป็นเอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 9 ปีลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 4 ปี6 เดือน ให้นับโทษของจำเลยตามที่กำหนดขึ้นใหม่นี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 9167/2542 ของศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่จำเลยปลอมและใช้สมุดคู่ฝากปลอมเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานปลอมและใช้ใบถอนเงินปลอมหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 22 กันยายน 2535 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2538 เวลากลางวัน จำเลยได้ปลอมใบถอนเงินเพื่อถอนเงินจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขายานนาวาของผู้เสียหายและใช้ใบถอนเงินดังกล่าว ถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของนางบรรจงฉวีวงษ์และนายบุญส่ง ฉวีวงษ์ ลูกค้าของผู้เสียหายรวม 20 ครั้ง อันเป็นความผิดสำเร็จไปแล้ว ต่อมาระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน 2537 ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2539 จำเลยจึงได้ทำการปลอมสมุดคู่ฝากที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขายานนาวา ออกให้แก่นางบรรจง และนายบุญส่ง โดยจำเลยพิมพ์ข้อความในช่องวัน เดือน ปี โดยเติมและตัดทอนข้อความในช่องฝาก ช่องถอน ช่องคงเหลือและลงชื่อจำเลย แล้วมอบให้แก่นางบรรจงและนายบุญส่งเพื่อให้บุคคลทั้งสองหลงเชื่อว่าเป็นสมุดเงินฝากของธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) สาขายานนาวา ที่แท้จริงและเงินฝากของบุคคลทั้งสองมีอยู่ตามจำนวนที่จำเลยทำขึ้นอันเป็นการกระทำเพื่อปกปิดความผิดฐานปลอมและใช้ใบถอนเงินปลอมของจำเลย ความผิดฐานปลอมและใช้สมุดคู่ฝากปลอมจึงเป็นการกระทำต่อนางบรรจงและนายบุญส่งผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เสียหายคนละรายกับความผิดฐานปลอมและใช้ใบถอนเงินปลอม ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าความผิดฐานปลอมและใช้ใบถอนเงินปลอมกับความผิดฐานปลอมและใช้สมุดคู่ฝากปลอมเป็นความผิดต่างกรรมนั้นชอบแล้วฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน