โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 270,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 96,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 4,500 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้ชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า? คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง คงฎีกาได้เฉพาะแต่ในข้อกฎหมายซึ่งการวินิจฉัยปัญหาเช่นว่านั้น ศาลฎีกาจำต้องถือข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตาม มาตรา 247 ประกอบด้วยมาตรา 238 ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์ ซูซูกิ วีทาร่า คันหมายเลขทะเบียน 4 อ - 5562 กรุงเทพมหานคร โจทก์ได้ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์พิพาทดังกล่าวไว้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2536 ซึ่งอยู่ในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย รถยนต์คันพิพาทเกิดเหตุชนกับรถยนต์คันอื่นได้รับความเสียหาย จำเลยได้นำรถยนต์พิพาทไปซ่อมที่อู่สมนึกการช่างซึ่งเป็นคู่สัญญากับจำเลย และศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติโดยจำเลยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งและศาลอุทธรณ์มิได้ฟังเป็นอย่างอื่นว่าโจทก์มอบรถยนต์พิพาทให้จำเลยนำไปซ่อมเมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2537 และมีหนังสือแจ้งให้จำเลยซ่อมรถให้หลายครั้ง แต่จำเลยไม่ตอบ จนถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2539 จำเลยจึงมีหนังสือให้โจทก์ไปรับรถยนต์พิพาทคืน รวมระยะเวลาในการซ่อมรถยนต์พิพาทประมาณ 2 ปี โดยไม่มีเหตุอันสมควร ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจากการขาดการใช้รถยนต์เป็นเวลา 16 เดือน คิดเป็นค่าเสียหาย 96,000 บาท และตามกรมธรรม์ประกันภัยตามสัญญาหมวดที่ 3 การคุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์ ข้อ 3.7.5 ระบุว่า การประกันภัยไม่คุ้มครองความเสียหายอันเกิดจากการขาดการใช้รถยนต์ ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จะนำข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวมาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้หรือไม่ เห็นว่า แม้กรมธรรม์ประกันภัยในหมวดที่ 3 การคุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์ข้อ 3.7.5 จะระบุว่า การประกันภัยไม่คุ้มครองความเสียหายอันเกิดจากการขาดการใช้รถยนต์ก็ตาม แต่การยกเว้นความรับผิดของจำเลยตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวหมายถึงความเสียหายที่เกิดจากการขาดการใช้รถยนต์เนื่องจากรถยนต์คันที่เอาประกันภัยไว้ประสบวินาศภัยซึ่งจำเลยต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยเท่านั้น หารวมถึงความเสียหายจากการขาดการใช้รถยนต์ที่จำเลยเป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้นไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยซ่อมรถยนต์พิพาทซึ่งเอาประกันภัยไว้ล่าช้าเกินควร ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ดังกล่าวต้องเสียค่าพาหนะในการประกอบการงานเป็นค่ารถโดยสารและรถแท็กซี่นับแต่เดือนมิถุนายน 2537 ซึ่งเป็นเวลาที่จำเลยควรซ่อมรถยนต์พิพาทเสร็จถึงเดือนตุลาคม 2538 รวม 16 เดือน เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ซ่อมแซมรถยนต์พิพาทล่าช้าโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร มิใช่ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากการผิดสัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยจึงอ้างข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวขึ้นปฏิเสธความรับผิดไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์เนื่องจากเห็นว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น ส่วนปัญหาว่าจำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ดังกล่าวแก่โจทก์หรือไม่ซึ่งศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าแม้จำเลยมีสิทธิจะจัดการซ่อมรถยนต์ที่เอาประกันภัยให้แก่โจทก์แทนการใช้เงินตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 3.5.1 และได้จัดการซ่อมรถยนต์พิพาทเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ตาม แต่การซ่อมรถยนต์พิพาทต้องกระทำภายในเวลาอันสมควรด้วย เมื่อจำเลยใช้เวลาซ่อมรถยนต์พิพาทเกือบ 2 ปี โดยไม่มีเหตุอันสมควร และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงต้องรับผิดในค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์จากการกระทำดังกล่าวด้วย
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ.