คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกพนักงานอัยการซึ่งเป็นผู้ร้องทั้งสองสำนวนว่า ผู้ร้อง เรียกผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ทั้งสองสำนวนว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ตามลำดับ และเรียกผู้คัดค้านที่ 3 สำนวนแรกว่า ผู้คัดค้านที่ 3
ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องทั้งสองสำนวนขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามรวม 348 รายการ ตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ระหว่างไต่สวน นางรวงทิพย์ ยื่นคำคัดค้านไม่ให้ทรัพย์สินตามบัญชีรายการทรัพย์สินท้ายคำร้อง ลำดับที่ 66 ตกเป็นของแผ่นดิน ต่อมานางรวงทิพย์ขอถอนคำคัดค้าน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ทรัพย์สินตามบัญชีรายการทรัพย์สินในสำนวนแรก รายการที่ 1 ถึง 9, 16, 26, 32 ถึง 71, 73 ถึง 87, 94 ถึง 117, 124 ถึง 153, 160 ถึง 165, 178 ถึง 228, 230, 231, 244 ถึง 279, 281 ถึง 313, 315 ถึง 321, 323 ถึง 330, 339 ถึง 344 และทรัพย์สินตามบัญชีรายการทรัพย์สินในสำนวนหลัง รายการที่ 3 และ 4 ตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง คืนทรัพย์สินตามบัญชีรายการทรัพย์สินในสำนวนแรก รายการที่ 10 ถึง 15, 27 ถึง 31, 88 ถึง 93, 118 ถึง 123, 154 ถึง 159, 166 ถึง 177, 229, 232 ถึง 243, 280, 314, 322, 331 ถึง 336 แก่ผู้คัดค้านที่ 1 คืนทรัพย์สินรายการที่ 72, 337 และ 338 ตามบัญชีรายการทรัพย์สินเดียวกันแก่ผู้คัดค้านที่ 3 และคืนรถจักรยานยนต์ตามบัญชีรายการทรัพย์สินในสำนวนหลัง รายการที่ 1 และ 2 แก่ผู้คัดค้านที่ 2 โดยให้ถือเอาบัญชีรายการทรัพย์สินทั้งสองสำนวนเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาฉบับนี้ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นฎีกาว่า คดีนี้เจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกเข้าตรวจค้นอาคารที่สืบทราบว่ามีการจัดให้เล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาต จากการสืบสวนทราบว่าผู้คัดค้านที่ 1 มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงได้เข้าตรวจค้นสถานที่รวม 3 แห่ง ในวันที่ 6 มิถุนายน 2557 วันที่ 9 มิถุนายน 2557 และวันที่ 10 มิถุนายน 2557 ตามลำดับ จากนั้นพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาผู้คัดค้านที่ 1 ว่ากระทำความผิดฐานจัดให้มีการเล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีหนังสือรายงานต่อเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 พนักงานอัยการพิจารณาแล้วมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 แต่คณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาแล้วมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้คัดค้านที่ 1 มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาต และได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (9) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จึงมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง เจ้าพนักงานตรวจสอบแล้วเชื่อว่าผู้คัดค้านที่ 1 มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานดังกล่าว และทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามที่ถูกยึดหรืออายัดไว้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ต่อมาคณะกรรมการธุรกรรมจึงมีมติให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของผู้ร้องในปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำร้องของผู้ร้อง โดยเห็นว่าผู้ร้องบรรยายคำร้องว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีวงเงินในการกระทำความผิดรวมกันมีมูลค่าตั้งแต่ห้าล้านบาทขึ้นไป เป็นการบรรยายคำร้องที่ไม่อยู่ในความหมายของความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 วรรคหนึ่ง (9) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ที่บัญญัติว่า วงเงินในการกระทำความผิดรวมกันมีมูลค่าเกินกว่าสิบล้านบาทขึ้นไป อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการตรวจค้นอาคารทั้งสามแห่งที่กล่าวหาว่าผู้คัดค้านที่ 1 กระทำความผิดมูลฐาน ชอบหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่แยกออกได้จากกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิดมูลฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการทางแพ่งที่เกี่ยวกับทรัพย์สินตามหมวด 6 ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ เป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ตรวจสอบการทำธุรกรรมต้องสงสัยอันมีเหตุสมควรเชื่อได้ว่าเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน และหากปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ก็ให้เลขาธิการส่งเรื่องให้ผู้ร้องพิจารณาเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 48 มาตรา 49 และมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น การร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัตินี้จึงเป็นมาตรการทางแพ่ง และมติของคณะกรรมการธุรกรรมที่เชื่อว่าทรัพย์สินตามที่ตรวจสอบและมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดไว้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน และให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้ผู้ร้องพิจารณายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 49 นั้น ต้องพิจารณาตามบทนิยามของกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติและเลขาธิการส่งเรื่องให้ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลว่าในขณะดังกล่าวทรัพย์สินที่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินนั้นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือไม่ ซึ่งแตกต่างจากการขอให้ลงโทษบุคคลทางอาญาที่ต้องใช้กฎหมายที่บังคับใช้ในขณะที่จำเลยกระทำความผิด เมื่อในขณะที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้ส่งเรื่องให้ผู้ร้องพิจารณายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องทั้ง 348 รายการ เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2558 เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมตินั้น โดยมาตรา 5 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้ยกเลิกความใน (9) ของบทนิยามคำว่า "ความผิดมูลฐาน" ในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "(9) ความผิดเกี่ยวกับการพนันตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน เฉพาะความผิดเกี่ยวกับการเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยมีวงเงินในการกระทำความผิดรวมกันมีมูลค่าตั้งแต่ห้าล้านบาทขึ้นไป หรือเป็นการจัดให้มีการเล่นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์" ดังนั้น การที่ผู้ร้องบรรยายคำร้องว่า "ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีวงเงินในการกระทำความผิดรวมกันมีมูลค่าตั้งแต่ห้าล้านบาทขึ้นไป" จึงเป็นการบรรยายคำร้องตามบทนิยามความผิดมูลฐานของมาตรา 3 วรรคหนึ่ง (9) ตามที่แก้ไขโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้ส่งเรื่องให้ผู้ร้องพิจารณายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว กรณีจำต้องวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ข้ออื่นของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ต่อไป แต่เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปตามลำดับชั้นศาล เห็นสมควรให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาอุทธรณ์ข้ออื่นของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ก่อน และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของผู้ร้อง
พิพากษากลับ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาและพิพากษาคดีใหม่ในปัญหาตามอุทธรณ์ข้ออื่นของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ