โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันชีวิตเพื่อชำระหนี้ของดาบตำรวจสอิ้งให้แก่ธนาคาร 2,203,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ต้นเงิน 1,950,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากมีเงินเหลือจากการหักชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินแล้วให้คืนแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 1,879,254 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 กันยายน 2559 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่ธนาคาร หากมีเงินเหลือจากการชำระหนี้แล้วให้ชำระแก่โจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นนี้ฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 เป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายและโจทก์ที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของดาบตำรวจสะอิ้ง วันที่ 13 ตุลาคม 2558 ดาบตำรวจสอิ้งทำสัญญากู้เงินกับธนาคาร 2 ฉบับ รวมเป็นเงิน 1,950,000 บาท ในวันดังกล่าวดาบตำรวจสอิ้งยังได้ยื่นคำขอเอาประกันภัยสินเชื่อกลุ่ม (แบบสั้น) จำนวนเงินเอาประกัน 1,950,000 บาท โดยระบุให้ธนาคาร เป็นผู้รับประโยชน์ตามภาระหนี้ที่ค้างชำระ ถ้ามีเงินเหลือจ่ายก็ให้โจทก์ทั้งสองเป็นผู้รับประโยชน์ ดาบตำรวจสอิ้งตอบคำถามเกี่ยวกับสุขภาพในคำขอเอาประกันภัยสินเชื่อกลุ่ม (แบบสั้น) ข้อ 14 ที่ระบุว่า ในระหว่าง 6 เดือนที่ผ่านมา ท่านเคยให้แพทย์ตรวจหรือเข้าสถานพยาบาลทำการรักษาตัว ตรวจโลหิต ความดันโลหิต ปัสสาวะ เอกซเรย์ ตรวจหัวใจ หรือตรวจอย่างอื่นหรือไม่ ดาบตำรวจสอิ้งตอบว่าเคยตรวจสุขภาพประจำปี ผลปกติ จำเลยตกลงรับประกันชีวิตดาบตำรวจสอิ้งแบบกลุ่ม และมอบหนังสือรับรองการเอาประกันชีวิตให้ดาบตำรวจสะอิ้ง ระหว่างอายุกรมธรรม์ประกันชีวิตดังกล่าว ดาบตำรวจสอิ้งเสียชีวิตด้วยระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว โจทก์ทั้งสองขอรับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตของดาบตำรวจสอิ้งจากจำเลย จำเลยปฏิเสธที่จะชำระค่าสินไหมทดแทน และมีหนังสือบอกล้างสัญญาประกันชีวิตพร้อมคืนเงินเบี้ยประกันชีวิตให้ธนาคาร ก.
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาเพียงข้อเดียวว่า สัญญาประกันชีวิตตกเป็นโมฆียะหรือไม่ จำเลยฎีกาทำนองว่า ดาบตำรวจสอิ้งปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพของตนที่เข้ารับการรักษาโรคเบาหวานและไขมันในเลือดสูง อันเป็นข้อสาระสำคัญที่จำเลยจะพิจารณาว่าจะรับหรือปฏิเสธการขอเอาประกันชีวิตของดาบตำรวจสอิ้งและจำเลยไม่มีหน้าที่ที่จะไปสืบหาประวัติการรักษาของดาบตำรวจสอิ้ง ทำให้สัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะนั้น จำเลยเป็นฝ่ายยกข้อเท็จจริงขึ้นมาปฏิเสธความรับผิดตามสัญญาประกันชีวิตที่จำเลยทำไว้กับดาบตำรวจสอิ้งภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84/1 ซึ่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 ให้นำมาใช้บังคับในคดีผู้บริโภคด้วย จำเลยมีนายพิเชฐ นายสารัตถ์ และนายแพทย์กฤษณะ เป็นพยานเบิกความได้ความว่า จากประวัติการตรวจรักษาอาการป่วยของดาบตำรวจสอิ้งที่โรงพยาบาล บ. แจ้งให้จำเลยทราบเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 พบว่า ดาบตำรวจสอิ้งเข้ารับการรักษาอาการป่วยด้วยโรคเบาหวานและไขมันในเลือดสูงมาตั้งแต่ปี 2556 และดาบตำรวจสอิ้งไม่ได้ไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการป่วยตามนัดอย่างต่อเนื่อง วันที่ 8 กันยายน 2558 ก่อนที่ดาบตำรวจสอิ้งจะยื่นคำขอเอาประกันชีวิต 1 เดือนเศษ ดาบตำรวจสอิ้งเข้ารับการรักษาอาการป่วยเบาหวานและไขมันในเลือดสูง แพทย์วินิจฉัยว่า ดาบตำรวจสอิ้งป่วยเป็นโรคเบาหวานและไขมันในเลือดสูง และนายพิเชฐยังเบิกความอีกว่า หากดาบตำรวจสอิ้งให้ข้อเท็จจริงว่า ป่วยด้วยโรคเบาหวานและไขมันในเลือดสูงและอยู่ระหว่างการรักษาแล้ว จำเลยจะปฏิเสธไม่รับทำสัญญาประกันชีวิต เพราะเป็นผู้มีสุขภาพไม่สมบูรณ์ อาจเสียชีวิตได้มากกว่าคนที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 และ 15 กุมภาพันธ์ 2560 บอกล้างสัญญาประกันชีวิตไปยังโจทก์ทั้งสองและธนาคาร ในฐานะผู้รับประโยชน์ นอกจากโจทก์ทั้งสองจะไม่ได้นำสืบโต้แย้งข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบให้เห็นเป็นอื่นแล้ว โจทก์ที่ 1 ยังเบิกความว่า ดาบตำรวจสอิ้งตอบคำถามข้อ 14 ในใบคำขอเอาประกันภัยสินเชื่อกลุ่ม (แบบสั้น) ว่า ตรวจสุขภาพประจำปี ผลปกติ เห็นว่า ในสัญญาประกันชีวิต การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลหนึ่งเป็นสำคัญ และมาตรา 865 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า "...บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยการทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ" จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการเปิดเผยข้อเท็จจริงต่าง ๆ รวมถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพของผู้เอาประกันชีวิตเป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันชีวิตซึ่งการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของตน ในคดีนี้คือดาบตำรวจสอิ้งผู้เอาประกันชีวิตที่จะต้องเปิดเผยข้อความจริงให้ผู้รับประกันภัยในคดีนี้ก็คือจำเลยผู้รับประกันชีวิตทราบ หาใช่หน้าที่ของจำเลยผู้รับประกันชีวิตที่จะต้องสืบหาประวัติการรักษาอาการเจ็บป่วยของดาบตำรวจสอิ้งผู้เอาประกันชีวิตไม่ การที่ดาบตำรวจสอิ้งผู้เอาประกันชีวิตระบุในข้อ 14 ของใบคำขอเอาประกันภัยสินเชื่อกลุ่ม (แบบสั้น) ที่ถามชัดเจนว่าระหว่าง 6 เดือนที่ผ่านมาเคยให้แพทย์ตรวจหรือเข้าสถานพยาบาลทำการรักษาตัว ตรวจโลหิต ความดันโลหิตหรือไม่ แต่ดาบตำรวจสอิ้งกลับตอบว่า การตรวจสุขภาพประจำปี ผลปกติ ทั้งที่ก่อนที่ดาบตำรวจสอิ้งจะยื่นใบคำขอเอาประกันภัยสินเชื่อกลุ่ม (แบบสั้น) ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2558 นั้น วันที่ 8 กันยายน 2558 ดาบตำรวจสอิ้งไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาอาการป่วยด้วยโรคเบาหวานและไขมันในเลือดสูง บ่งชี้ได้ว่าดาบตำรวจสอิ้งจงใจปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพและอาการเจ็บป่วยดังกล่าวของตนที่เป็นข้อสาระสำคัญซึ่งหากจำเลยทราบก็จะไม่รับทำสัญญาประกันชีวิตกับดาบตำรวจสอิ้งดังที่นายพิเชฐเบิกความ การปกปิดข้อเท็จจริงดังกล่าวของดาบตำรวจสอิ้งเป็นผลให้สัญญาประกันชีวิตระหว่างดาบตำรวจสอิ้งกับจำเลยตกเป็นโมฆียะตามบทกฎหมายข้างต้น เมื่อจำเลยมีหนังสือบอกล้างสัญญาประกันชีวิตระหว่างดาบตำรวจสอิ้งกับจำเลยที่ตกเป็นโมฆียะกรรมไปยังธนาคาร และโจทก์ทั้งสองผู้รับประโยชน์ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคสอง โดยชอบแล้ว สัญญาประกันชีวิตระหว่างดาบตำรวจสอิ้งกับจำเลยจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนตามที่โจทก์ทั้งสองฟ้องให้รับผิด โดยไม่จำต้องวินิจฉัยเหตุผลอื่น ๆ ที่จำเลยกล่าวมาในฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยรับผิดนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ